ผลลัพธ์การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับ การผ่าตัด โรงพยาบาลลำพูน
บทคัดย่อ
บทนำ: การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ตามมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของทีมสหสาขาวิชาชีพ ในงานห้องผ่าตัด
วัตถุประสงค์: เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติฯ และประเมินผลลัพธ์การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด โรงพยาบาลลำพูน
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ สหสาขาวิชาชีพในทีมผ่าตัด โรงพยาบาลลำพูน จำนวน 54 คน ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แนวทางปฏิบัติฯ และแบบบันทึก Surgical Safety Checklist เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความรู้ แบบประเมินการปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด และแบบประเมินความพึงพอใจต่อการนำแนวทางปฏิบัติฯ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าสถิติ Paired Samples t-test
ผลการศึกษา: ผลลัพธ์การพัฒนาแนวทางปฏิบัติฯ พบว่าก่อนใช้แนวทางปฏิบัติฯ พบอุบัติการณ์ที่เกิดความผิดพลาดต่อผู้ป่วย ในระยะก่อนผ่าตัด เช่น เซ็นยินยอมระบุการผ่าตัดไม่ถูกต้อง/ระบุผิดข้าง/ไม่ระบุ รองลงมา คือ ไม่ทำเครื่องหมายบริเวณที่จะผ่าตัด ไม่ติดป้ายข้อมือ มีสิ่งของติดมากับผู้ป่วย (จำนวน 17, 13 และ 6 ราย ตามลำดับ) ระยะขณะผ่าตัดไม่พบอุบัติการณ์ และระยะหลังผ่าตัด พบการจัดเก็บสิ่งส่งตรวจและการส่งมอบผิดพลาด จำนวน 7 ราย หลังการใช้แนวทางปฏิบัติฯ พบอุบัติการณ์ที่เกิดความผิดพลาดต่อผู้ป่วยระยะก่อนผ่าตัด พบไม่ติดป้ายข้อมือ จำนวน 5 ราย และมีสิ่งของติดมากับผู้ป่วย จำนวน 1 ราย เท่านั้น ไม่พบอุบัติการณ์ที่เกิดความผิดพลาดต่อผู้ป่วยในระยะขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด พบการจัดเก็บสิ่งส่งตรวจและการส่งมอบผิดพลาด จำนวน 1 ราย ผลลัพธ์การพยาบาล พบว่าหลังการใช้แนวทางปฏิบัติฯ สหสาขาวิชาชีพในทีมผ่าตัด มีความรู้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับมาก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
สรุป: การพัฒนาแนวทางปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพการบริการที่มุ่งประสิทธิภาพในด้านการเสริมสร้างความรู้ ความตระหนัก และเห็นความสำคัญในการนำแนวทางปฏิบัติฯ มาใช้การตรวจสอบความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดของสหสาขาวิชาชีพ ในทีมผ่าตัดได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ: แนวปฏิบัติทางคลินิก, ความปลอดภัยในการผ่าตัด, ทีมผ่าตัด