ผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ระยะเฉียบพลัน โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • กัลยา ปวงจันทร์ โรงพยาบาลแพร่
  • ศิริกาญจน์ จินาวิน โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            โรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันเป็นภาวะวิกฤตที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงแต่เนื้อสมองยังไม่ตาย พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 72 ชั่วโมงแรก หากผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องทันเวลาบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัยและฟื้นฟูได้เร็ว

วัตถุประสงค์:    เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลัน

วิธีการศึกษา:    การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research, interrupted time design) โดยใช้รูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของซูคัพเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพห้องผู้ป่วยหนักอายุรกรรม 2 จำนวน 9 คน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันที่ได้รับการดูแลตามปกติ 60 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 และใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2563 จำนวน 60 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย, paired t-test, exact McNemar test, exact probability test และ ranksum test

ผลการศึกษา:    พยาบาลวิชาชีพมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันเพิ่มขึ้นจาก 15.9 เป็น 18.1 คะแนน (p<.001) มีความพึงพอใจต่อการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในระดับมากร้อยละ 88.9 ผู้ป่วยกลุ่มใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่ากลุ่มไม่ใช้แนวปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การเกิดปอดอักเสบ (13.3% vs 31.7%, p=0.028) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (13.3% vs 40.0%, p=0.002) และแผลกดทับ (8.3% vs 31.7%, p=0.002)

สรุป:              แนวปฏิบัติการพยาบาลการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันสามารถใช้ได้จริงและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้ ควรมีการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันไปใช้อย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ:      โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลัน แนวปฏิบัติการพยาบาล ปอดอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-03

วิธีการอ้างอิง