ประสิทธิผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารกเกิดก่อนกำหนด ในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • สมานใจ เขียวสลับ
  • ชื่นจิตต์ สมจิตต์
  • จินตนา ชัยธรรม
  • ธัญญรัตน์ นันทะยานา
  • ยุพาภรณ์ หล้าคำมี
  • ณัฐนันท์ สีเหลือง
  • นิษฐา แหวนคำ

บทคัดย่อ

บทนำ:  ลักษณะของสิ่งแวดล้อมในหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นทารกมากเกินไปจากแสง เสียง และการสัมผัสจับต้องส่งผลให้ทารกพักหลับได้น้อยลง น้ำหนักของทารกขึ้นช้า ในระยะยาวพบว่าทารกเกิดก่อนกำหนดมีอัตราการเจริญเติบโตของร่างกายช้าลง อาจมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมที่เป็นผลจากพัฒนาการระบบประสาท เมื่อโตขึ้นการดูแลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารกเกิดก่อนกำหนดจะทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสมและเป็นปกติ

วัตถุประสงค์:  เพื่อเปรียบเทียบ ระยะเวลาในการรักษาในโรงพยาบาล การขึ้นของน้ำหนักขณะรับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมการเจริญเติบโต พัฒนาการ ของทารกเกิดก่อนกำหนดกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ

วิธีการศึกษา:  รูปแบบการศึกษา Historical controlled design ศึกษาทารกเกิดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ที่เข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่ กลุ่มควบคุมเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด ที่เข้ารับการรักษาระหว่าง เดือน สิงหาคม–ธันวาคม 2562 ได้รับการพยาบาลแบบเดิมจำนวน 37 ราย กลุ่มทดลองเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด ที่เข้ารับการรักษา ระหว่างเดือน สิงหาคม–ธันวาคม 2563 ได้รับการพยาบาล เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารกเกิดก่อนกำหนด จำนวน 37 ราย วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติเชิงพรรณนาได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วยสถิติ exact probability test และ t–test เปรียบเทียบการขึ้นของน้ำหนักทารกขณะรับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมด้วย graph ชนิด standard error bars

ผลการศึกษา:  ทารกคลอดก่อนกำหนดทั้งสองกลุ่ม มีลักษณะพื้นฐาน ได้แก่ เพศ อายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด  APGAR score นาทีที่ 1, 5, 10 การได้รับออกซิเจน การเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะรับการรักษา ไม่แตกต่างกัน กลุ่มทดลองมีระยะเวลานอนรับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (20.02 ±11.78 VS 25.08 ±13.16, p=0.050) กลุ่มทดลองมีการขึ้นของน้ำหนักทารกขณะรับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมมากกว่ากลุ่มควบคุม ติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโต ที่อายุ 1-2 เดือน, 4, 6, 9 ของทั้งสองกลุ่มมีพัฒนาการและการเจริญเติบโต ไม่แตกต่างกัน

สรุป:  การใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารกเกิดก่อนกำหนด สามารถลดระยะเวลาในการนอนรับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรม ทารกเกิดก่อนกำหนดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็ว

คำสำคัญ: ทารกเกิดก่อนกำหนด, การพยาบาลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทารกเกิดก่อนกำหนด

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-01-14

วิธีการอ้างอิง