การเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์การเกิดกระดูกข้อสะโพกหัก ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตแบบต่าง ๆ
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคไตเรื้อรังเป็นหนึ่งในโรคที่มีรายงานการเกิดสูงในประเทศไทย ในระยะยาวผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกผิดปกติ ที่เรียกว่า Chronic kidney disease- mineral and bone disorder (CKD-MBD) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End stage renal disease, ESRD) ที่ไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไตมีความเสี่ยงการเกิด กระดูกหักมากขึ้น ส่งผลให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เกิดความพิการ และเสียชีวิตตามมา
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์การเกิดกระดูกข้อสะโพกหักในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้การบำบัดทดแทนไตแบบต่าง ๆ และเปรียบเทียบค่าความสัมพันธ์ hazard ratio ของการเกิดกระดูกข้อสะโพกหักระหว่างกลุ่ม
วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบ Prognostic factor research รูปแบบ Retrospective cohort ในผู้ป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ช่วงปี พ.ศ. 2557– 2559 ของโรงพยาบาลแพร่ ศึกษาเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์การเกิดกระดูกข้อสะโพกหักในผู้ป่วยที่ได้การบำบัดทดแทนไตแบบต่าง ๆ กับกลุ่มที่ไม่ทำการบำบัด ทดแทนไต เปรียบเทียบ time-to-events และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชนิดของการบำบัดทดแทนไตกับการเกิดกระดูกข้อสะโพกหัก
ผลการศึกษา: กลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไตมีอุบัติการณ์การเกิดกระดูกข้อสะโพกหักจากการหกล้มสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มที่ได้รับการฟอกเลือด โดยมีค่า incidence density อยู่ที่ 7.38 และ 4.31 ต่อ 1,000 person-years ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ด้วย Poisson regression อุบัติการณ์ของทั้งสี่กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน adjusted Hazard ratio ของกลุ่มฟอกเลือดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรับการบำบัดทดแทนไตเท่ากับ 0.90 (95% CI; 0.21-3.39) เท่า แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกข้อสะโพกหัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไตมีแนวโน้มการเกิดมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยทุกกลุ่มควรได้รับคำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยงต่อการล้ม
คำสำคัญ: โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย, การบำบัดทดแทนไต, การฟอกเลือด, การล้างไตทางช่องท้อง, กระดูกข้อสะโพกหัก