ผลของการส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • ดวงมาลย์ คำหม่อม หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            ปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจเกิดจากใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลานานเกิน 48 ชั่วโมง ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงขึ้น การที่พยาบาลใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่งผลให้อุบัติการณ์การเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยลดลงได้

วัตถุประสงค์:  เพื่อเปรียบเทียบความรู้และการปฏิบัติของพยาบาลในป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจก่อนและหลังการใช้แนวปฏิบัติ และเปรียบเทียบการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกลุ่มที่ดูแลตามปกติ กับกลุ่มที่ได้รับการส่่งเสริมการปฏิบัติ

วิธีการศึกษา:  การวิจัยแบบกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) เพื่อศึกษาผลการใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจต่อความรู้และการปฏิบัติของพยาบาล หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลแพร่ ระหว่าง เดือน มกราคม–เดือนเมษายน 2565 โดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบคะแนนความรู้และการปฏิบัติของพยาบาลด้วยสถิติ paired-t-test, Fisher exact, Wilcoxon matched paired sign rank test

ผลการศึกษาการเปรียบเทียบความรู้ของพยาบาลในป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจก่อนและหลังการใช้แนวปฏิบัติ โดยใช้แบบประเมินความรู้ในการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจของพยาบาล จำนวน 20 ข้อ รวม 20 คะแนน ก่อนการวิจัยมีค่าคะแนนความรู้ เฉลี่ย 17.84 (SD 0.175) หลังการวิจัย มีค่าคะแนนความรู้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 18.89 (SD 0.150) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.05 (p=0.029) การปฏิบัติการป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจก่อนและหลังการใช้แนวปฏิบัติ ใช้แบบบันทึกการสังเกตการปฏิบัติการควบคุมการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 25 ข้อ รวม 25 คะแนน กลุ่มที่ดูแลตามปกติ มีค่าคะแนนเฉลี่ย 23.66 (SD 0.236) กลุ่มใช้แนวปฏิบัติมีค่าคะแนน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 24.4  (SD 0.113) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.63 คะแนน (p<0.001) การติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ กลุ่มที่ดูแลตามปกติมีอุบัติการณ์การติดเชื้อปอดอักเสบ 13.01 ครั้งต่อ 1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกลุ่มที่ส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติ มีการติดเชื้อน้อยกว่า โดยพบ 4.84 ครั้งต่อ 1,000 วันที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

สรุป:              แม้ว่าการใช้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้พยาบาลมีความรู้ มีการปฏิบัติตามแนวทางเพิ่มขึ้น และช่วยลดการติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่พบข้อจำกัดของการศึกษาในการสังเกตการปฏิบัติ ที่ยังไม่คลอบคลุมกับทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง อุบัติการณ์การติดเชื้อปอดอักเสบ กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษายังไม่ได้พิจารณาตัวแปรอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ และวิธีการทางสถิติที่เหมาะสม

คำสำคัญ:      แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันปอดอักเสบในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ, ความรู้และการปฏิบัติของพยาบาล, การติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-08

วิธีการอ้างอิง