การศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมดำเนินงาน ตามแผนการเงินการคลัง (Planfin) ของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)ในจังหวัดลพบุรี

Authors

  • นางชุติวรรณ น้อยนันตา

Abstract

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลัง ของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)ในจังหวัดลพบุรี

วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ บุคลากรที่ศึกษาเป็นคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.)ในจังหวัดลพบุรี 11 อำเภอ ที่มีบทบาทในการบริหารด้านการเงิน จำนวน 117 คนเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลัง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และความสัมพันธ์

ผลการศึกษา : พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมดำเนินงาน ตามแผนการเงินการคลังอยู่ในระดับปานกลาง จำนวนบุคลากรน้อยกว่าร้อยละ 20 ของบุคลากรที่ศึกษา เป็นผู้ที่มีความรู้ รวมถึง เป็นผู้ที่มีทัศนคติ มีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาสาเหตุของปัญหา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวางแผนการดำเนินการ และมีส่วนร่วมในการประเมินผล อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้พบว่าจำนวนบุคลากร ร้อยละ 22 ของบุคลากรที่ศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน อยู่ในระดับสูง จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า ความรู้ มีความสัมพันธ์กับทัศนคติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤ .01 ,r =0.62) ประสบการณ์หน้าที่ใน คปสอ.การเข้าร่วมประชุมใน คปสอ. ในช่วงเวลา 1 ปี การมีบทบาทในการจัดทำแผนการเงินการคลังในหน่วยงานมีความสัมพันธ์กับทัศนคติ การรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลังในระดับ CUP มีความสัมพันธ์กับความรู้ เพศ ระดับการศึกษาสูงสุด ประสบการณ์ หน้าที่ใน คปสอ.การมีบทบาทในการจัดทำแผนการเงินการคลังในหน่วยงานการมีบทบาทเป็น CFO ของเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ การนำแผนการเงินการคลังมาติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ ในที่ประชุม คปสอ. การรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลังในระดับ CUP การมีส่วนร่วมเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับCUP มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมดำเนินการตามแผนการเงินการคลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p≤ .05

ข้อเสนอแนะ : ผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านในการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลัง ของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ จากผลการสำรวจเปิดเผยให้เห็นว่าบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ยังมีความรู้ ทัศนคติ และความร่วมมือน้อย ในการดำเนินงานตามแผนการเงินการคลัง ดังนั้นจึงควรมีมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในองค์กร ส่งเสริมให้บุคลากรเข้าร่วมประชุม มีส่วนร่วมการเสนอแนะ ข้อคิดเห็นและแก้ไขปัญหาจะส่งผลต่อการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับผู้บริหารและแกนนำด้านการเงินการคลัง และทัศนคติที่ดีเพื่อให้การจัดทำแผนการเงินการคลังมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

คำสำคัญ: ความรู้ ทัศนคติ, การดำเนินงานตามแผนการเงินการคลัง

Published

2018-04-05

Issue

Section

Case Report