การศึกษาประสิทธิผล ของโปรแกรมการส่งเสริม การมีส่วนร่วมของเครือข่าย ในการดูแลสุขภาพ ของผู้สูงอายุ และการรับรู้ ความสามารถในการปรับเปลี่ยน พฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ของผู้สูงอายุ จังหวัดนครปฐม
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลองหนึ่งกลุ่ม (quasi experimental research one group)
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแล
สุขภาพของผู้สูงอายุ และการรับรู้ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ของผู้สูงอายุ
จังหวัดนครปฐม โดยการนำแนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวทางในการจัดทำ
โปรแกรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยการประยุกต์
ทฤษฎีความสามารถแห่งตน (Self-efficacy theory) ร่วมกับทฤษฎีการดูแลตนเองในการปรับ
เปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุระหว่าง 60 - 75 ปีที่สามารถอ่านออก เขียนได้ ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและมาเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนผู้สูงอายุสุขภาพดี นครปฐม ตำบลพระปฐมเจดีย์ และโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบสุขภาพดี ตำบลนครชัยศรี จำนวน 50 คนและเครือข่าย คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ โปรแกรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และการรับรู้ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ของผู้สูงอายุ จังหวัดนครปฐม และแบบสอบถามการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐม การวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานและใช้สถิติ Paired - Samples T-test ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้การรับรู้ความสามารถตนเอง ความคาดหวังในผลลัพธ์ และพฤติกรรมการดูแลตนเอง เรื่อง การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการอารมณ์บุหรี่ และสุรา หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเครือข่ายมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและการดูแลตนเองต่อการรับรู้ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ของผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐม อยู่ในระดับมากข้อเสนอแนะ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ควรมีการศึกษาศักยภาพและความต้องการการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุจังหวัดนครปฐม และศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชน จังหวัดนครปฐมคำสำคัญ : ประสิทธิผลของโปรแกรม การส่งเสริมการมีส่วนร่วม เครือข่ายการดูแลสุขภาพ การรับรู้ความสามารถการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. 2 ส. ผู้สูงอายุ