ความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ เขตสุขภาพที่ 2 ภายใต้สถานการณ์ โควิด-19
คำสำคัญ:
การบริโภคอาหาร, ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, โควิด-19บทคัดย่อ
ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ(Aging Society) และปัญหาด้านโภชนาการเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุจึงเกิดการศึกษาความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ เขตสุขภาพที่ 2 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ จำนวน 1,477 คน สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์และบันทึกคำตอบในระบบ Google form โดยแบบสอบถามนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่พัฒนามาจากกระบวนการเรียนรู้สู่ความรอบรู้ด้านสุขภาพ V-Shape 6 ขั้นตอน ของกรมอนามัย มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์หลายตัวแปรโดยใช้การถดถอยโลจิสติก ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.5 อายุระหว่าง 60-69 ปีร้อยละ 53.1 มีโรคเรื้อรังมากถึง ร้อยละ74.1 และต้องดูแลตนเอง ร้อยละ 57.4 ส่วนใหญ่ปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน ร้อยละ 65.7 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารในภาพรวม อยู่ในระดับไม่เพียงพอ ร้อยละ 80.4 อยู่ในระดับเพียงพอ ร้อยละ 19.6 และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติประกอบด้วย ปัจจัยด้านคุณลักษณะประชากร ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ระดับรายได้แหล่งที่มาของรายได้ความเพียงพอของรายได้ปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ จำนวนผู้สูงอายุในครัวเรือน และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ แหล่งเลือกซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารช่วงการแพร่ระบาด โควิด-19 ดังนั้นควรส่งเสริมการสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลด้านโภชนาการได้ง่ายและสะดวก ในเรื่องการเลือกทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หรือการเลือกทานอาหารและสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคได้เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19