สถานการณ์และความจำเป็นของปู่ย่าตายาย กับการเลี้ยงดูเด็กเล็กในวิถีไทยอีสาน : กรณีศึกษาอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • รมิตา ทองฉิม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปิยะฉัตร พัชรานุฉัตร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

ปู่ย่าตายาย, การเลี้ยงดูเด็กเล็ก, วิถีไทยอีสาน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และหาแนวทางพัฒนาการเลี้ยงดูเด็กเล็ก โดยปู่ย่าตายาย ในด้านการเลี้ยงดูเด็กโดยทั่วไป ด้านโภชนาการ พัฒนาการ และการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก 0-3 ปี ในเขตพื้นที่อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม แยกตามเขตพื้นที่บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 13 พื้นที่โดยครอบคลุมปู่ย่าตายายทุกช่วงอายุและอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ผลการวิจัยพบว่า ในวิถีการดำเนินชีวิตแบบไทยอีสานเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายโดยไม่มีบิดามารดาช่วยดูแลมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 46.86 เหตุผลและความจำเป็นในการเลี้ยงดูเด็กคือ บิดามารดาของเด็กเดินทางไปทำงานต่างถิ่นเพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ความรู้สึกในการรับหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก มีทั้งความรู้สึกด้านบวก คือ มีความสุขทางใจ และความรู้สึกด้านลบ คือ รู้สึกเหนื่อยล้าทั้งจากสุขภาพและการขาดรายได้ ด้านโภชนาการเด็ก พบว่าปู่ย่าตายายเลือกอาหารให้เด็กรับประทานตามความเคยชินมากกว่าการอิงหลักวิชาการ การใช้กราฟประเมินการเจริญเติบโตยังไม่แพร่หลาย ด้านพัฒนาการเด็กมีการเลี้ยงดูพร้อมส่งเสริมพัฒนาการและฝึกหัดการช่วยเหลือตนเอง แต่ยังไม่ได้รับการประเมินพัฒนาการอย่างทั่วถึง ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กพบว่ายังมีความรู้และวิธีการปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ปู่ย่าตายายผู้เลี้ยงดูเด็กจึงควรได้รับการส่งเสริมในทุกด้าน จากบิดามารดาเด็ก คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกฝ่าย รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนปู่ย่าตายายให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-03-08

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)