การพัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อม ในบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้แต่ง

  • Siriwan Chandanachulaka สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย

คำสำคัญ:

อนามัยสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ แนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลกและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ชาติแผนงานและกฎหมายของประเทศไทย สถานการณ์และการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อพัฒนางานอนามัยสิ่งแวดล้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยวิจัยเอกสาร รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบจากเอกสาร หลักฐานที่มีการตีพิมพ์ และเผยแพร่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อมติขององค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กฎหมายและแผนที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานและผลการดำเนินงานประกอบกับการประชุมกลุ่มผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายต่อกระทรวงสาธารณสุข และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 10 ท่าน ก่อนสรุปเป็นอกสารฉบับสมบูรณ์ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขควรใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายหลักที่ 3 “สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย” เป็นแกนของการทำงานด้านสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับงาน 4 ด้าน คือ (1) มลพิษทางอากาศกับสุขภาพ (2) นํ้าสะอาด การสุขาภิบาลและสุขอนามัย (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสุขภาพ (4) สารเคมีและของเสียอันตรายกับสุขภาพ โดยมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านประเด็นงานโครงสร้างและกลไกในการขับเคลื่อนครอบคลุมประเด็นงานทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งปรับโครงสร้างและกลไกการทำงานภายในกระทรวงให้เป็นเอกภาพ เช่น บูรณาการงานเข้ากับแผนป้องกันระดับปฐมภูมิ ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขเป็นต้นแบบ และสร้างความมั่นใจถึงลักษณะบริการสาธารณสุขว่ายังดำรงอยู่ได้แม้เกิดภาวะภัยพิบัติ รวมทั้งปรับกลไกในการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นมากขึ้น เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นทาง บูรณาการการทำงานในลักษณะกำหนดสถานที่หรือพื้นที่ร่วมกัน 2) ด้านกฎหมาย ส่งเสริมสนับสนุนการใช้มาตรการตามกฎหมายสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ และลักษณะการดำ รงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป 3) ด้านระบบข้อมูลและสารสนเทศ ให้เป็นศูนย์ข้อมูลระดับประเทศเพื่อการติดตามผลการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อม (เน้นเรื่องนํ้าสะอาด การสุขาภิบาลสำหรับบ้านเรือน โรงเรียน และสถานพยาบาล) พัฒนาระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์สื่อสารกับประชาชนให้เกิดความรอบรู้ในการป้องกันปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ด้วย และนำเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน 4) ด้านพัฒนาทรัพยากรบุคลากรและงบประมาณ สื่อสารทำความเข้าใจกับทิศทางในการทำงานใหม่ให้บุคลากรมีความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความรู้ความสามารถในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย เทคโนโลยีที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและความพร้อมในการผลักดันให้หน่วยงานอื่นนำเรื่องสุขภาพไว้ในนโยบายเพื่อป้องกันก่อนเกิดปัญหาและไม่ให้ส่งต่อภาระค่าใช้จ่ายมาให้หน่วยงานสาธารณสุข 5) ด้านการจัดการความรู้ วิจัย นวัตกรรมเพื่อสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น การศึกษาภาระโรคจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม รูปแบบ/แนวทางจัดการปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ มาตรการจูงใจให้มีการจัดการปัจจัยสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางศึกษาความเสี่ยงลักษณะใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ค้นหาภูมิปัญญาชาวบ้านหรือ Best Practice ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ และเป้าหมายของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-03-08

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)