ผลของโปรแกรมการประยุกต์ใช้ความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อการส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมของสตรีอายุ 30-55 ปี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • สุนันทินี ศรีประจันทร์ สาขาวิชาสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปาริชา นิพพานนทน์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, แรงสนับสนุนทางสังคม, การส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการประยุกต์ใช้ความรอบรู้ด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคมต่อการส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมของสตรีอายุ 30-55 ปี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีการเลือกตัวอย่างตามเกณฑ์ สุ่มตัวอย่างแบบง่ายได้ กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มๆละ 35 คน กลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมแทรกแซงแบบบูรณาการที่ประยุกต์ใช้ความรอบรู้ด้านสุขภาพและแรงสนับสนุนทางสังคม จำนวน 7 ครั้ง ในระยะเวลา 10 สัปดาห์ประกอบด้วย การอภิปรายกลุ่ม กระบวนการกลุ่ม วิดิทัศน์ บรรยาย สาธิต และฝึกปฏิบัติในการเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และสังคมออนไลน์รวมถึงการฝึกปฏิบัติตรวจเต้านมด้วยตนเอง การให้แรงสนับสนุนทางสังคม เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลองด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา; ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติอนุมาน Pair sample t-test และสถิติ Independent sample t-test กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการเข้าถึง เข้าใจข้อมูลสุขภาพและบริการสุขภาพ การสื่อสารข้อมูลสุขภาพ การจัดการตนเอง การตัดสินใจปฏิบัติ และการรู้เท่าทันสื่อสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบและสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) เจตคติในการส่งเสริมสุขภาพ การปฏิบัติตัวในการส่งเสริมสุขภาพ ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม และการปฏิบัติตัวในการตรวจเต้านมด้วยตนเองสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบและสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) ข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัย ควรมีการใช้โปรแกรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอื่นๆต่อไป

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)