การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • สิริรัตน์ วีระเดช ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี
  • ละอองดาว วงศ์อำมาตย์ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

คำสำคัญ:

รูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปาก, หลักสูตร, การบริการสุขภาพช่องปาก, ผู้สูงอายุ, โรงเรียนผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ประชากรเป้าหมายคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 25 คน และผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุจำนวน 50 คน ดำเนินการระหว่างพฤษภาคม 2564-มกราคม 2565 แบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาบริบทและข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย 3 กิจกรรมคือ 1) จัดสนทนากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลแสนสุข และการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ 2) ศึกษาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุโดยใช้แบบเก็บข้อมูลกิจกรรม และ 3) ประเมินความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก และตรวจสภาวะปริทันต์และคราบจุลินทรีย์ผู้สูงอายุในโรงเรียน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปาก โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาหลักสูตรการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุฯ และจัดทำแผนดำเนินการในโรงเรียนผู้สูงอายุและแผนการบริการสุขภาพช่องปาก ระยะที่ 3 ปฏิบัติการ และระยะที่ 4 การประเมินผลโดยประเมินความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก และตรวจสภาวะปริทันต์และคราบจุลินทรีย์ผู้สูงอายุ และคืนข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการปรับปรุงแผนงานและการดำเนินงาน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แนวทางการสนทนากลุ่ม (ด้านนโยบายและการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลแสนสุข และการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ) แบบบันทึกกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ แบบวัดความรู้และพฤติกรรมการดูสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ และแบบตรวจสภาวะปริทันต์และคราบจุลินทรีย์ผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความรู้ พฤติกรรม และการมีส่วนร่วมก่อนและหลังดำเนินการรูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากฯ ด้วยสถิติ paired t-test ส่วนข้อมูล เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและจัดกลุ่ม รูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุฯ ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีเนื้อหาความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ 6 เรื่องได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของฟัน อนามัยช่องปาก อาหารและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคช่องปาก การตรวจฟันและเหงือก การส่งเสริมสุขภาพช่องปากและป้องกันโรค และการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง 2) กิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการชมรม การดำเนินกิจกรรมของชมรม การจัดสวัสดิการและเกื้อกูลสมาชิกชมรม และการระดมทุนและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3) การบริการสุขภาพช่องปากโดยเครือข่ายบริการในตำบลแสนสุขและอำเภอ มีประธานชมรมโรงเรียนผู้สูงอายุและผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเป็นแกนประสานงานและขับเคลื่อน 4) การติดตามประเมินผลโดยศูนย์อนามัยและคืนข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการปรับปรุงการดำเนินงาน หลังจากดำเนินรูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากในโรงเรียนผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีคะแนนเฉลี่ยความรู้และพฤติกรรม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) การมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นแต่ไม่พบนัยสำคัญทางสถิติ โดยร้อยละ 84.0 มีความพึงพอใจในระดับมาก ด้านอนามัยช่องปาก ผู้มีฟันสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 0 เป็นร้อยละ 6.0 และมีสัดส่วนของผู้มีคราบจุลินทรีย์ระดับน้อยมาก (ติดสีย้อมเป็นจุดๆ) เพิ่มขึ้น สัดส่วนผู้มีร่องปริทันต์ปกติเพิ่มขึ้น และผู้มีหินปูนร่วมด้วยมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48.0 เป็นร้อยละ 38.0 รูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้เป็นการแก้ปัญหาตรงความต้องการของผู้สูงอายุตามบริบทพื้นที่ เกิดการจัดบริการระดับตำบลที่ครอบคลุมด้านความรู้ การเข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงบริการ ผู้สูงอายุสามารถทำความสะอาดฟันดีขึ้นและได้รับบริการสุขภาพช่องปาก ทำให้มีอนามัยช่องปากดีขึ้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-09-28

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)