กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขภาวะโภชนาการในพระสงฆ์ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ในเขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ผู้แต่ง

  • กัญชลี ไวว่อง ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก

คำสำคัญ:

พระสงฆ์, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, ภาวะค่าดัชนีมวลกายเกิน

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทชุมชนและสถานการณ์การดูแลสุขภาพตนเองด้านโภชนาการและเพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ภาวะโภชนาการในพระสงฆ์ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน เลือกกลุ่มเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจง ได้แก่ กลุ่มพระสงฆ์ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินในเขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 25 รูป บุคลากรสาธารณสุข จำนวน 10 คน กรรมการชุมชน จำนวน 5 คน และอาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 5 คน ใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัย 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่าบริบทและสถานการณ์การดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ด้านโภชนาการมีปัจจัยกำหนดสุขภาพหลายปัจจัยส่งผลให้พระสงฆ์มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ได้แก่ คุณภาพของอาหารที่ได้รับจากการบิณฑบาต ความรู้ ทักษะในการปฏิบัติตนด้านโภชนาการรวมถึงกิจกรรมทางกายที่ไม่ถูกต้อง ส่วนกระบวนการพัฒนาแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการมุ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมุ่งเน้นผสานวิธีเพื่อการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ ได้แก่ 1) การสร้างและพัฒนาสื่อ 2) การใช้รูปแบบต้นแบบด้านสุขภาพผสานการใช้รูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน 3) การสร้างและพัฒนาแผนการเรียนรู้ด้านโภชนาการ ผลลัพธ์การศึกษาพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการได้รับความรู้ที่ถูกต้อง มีทักษะในการดูแลตนเองและปฏิบัติตัว มีความมั่นใจจากการปฏิบัติตนจนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง มีความพร้อมในการเป็นต้นแบบพระสงฆ์สุขภาพดีและสามารถสื่อสารสุขภาพได้ ข้อค้นพบสำคัญได้แก่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกัน ส่งผลต่อปัญหาที่เกิดจากปัจจัยซับซ้อนถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน ข้อเสนอแนะการดำเนินการ กระบวนการค้นหาพระสงฆ์รอบรู้ด้านสุขภาพแล้วเสริมพลังเพื่อสร้างพระสงฆ์ต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยมีบุคลากรสาธารณสุขทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยงพร้อมกับสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-01-17

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)