การศึกษาการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพนักงาน ในสถานประกอบกิจการ 3 แห่ง บ

ผู้แต่ง

  • วิชชุพร เกตุไหม สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย
  • ทิวาวรรณ ซื่อสัตย์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม

คำสำคัญ:

การส่งเสริมสุขภาพ, เจ้าของสถานประกอบกิจการ, พนักงาน, สถานประกอบกิจการ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการปฏิบัติที่ดีด้านการส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการ โดยศึกษาในสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการศึกษาเฉพาะกรณี (Case study method) เลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) แบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 36 คน ประกอบด้วย เจ้าของสถานประกอบกิจการ แกนนำสุขภาพ และพนักงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) โดยใช้เครื่องมือคือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured interview) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษาพบว่า 1. สถานประกอบกิจการทั้ง 3 ขนาด มีกระบวนการปฏิบัติที่ดีด้านการส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการในรูปแบบที่คล้ายกัน ดังนี้ การประเมินสถานการณ์สุขภาพ การกำหนดประเด็นปัญหา การวางแผนการดำเนินงาน การปฏิบัติการตามแผน และการประเมินผลการดำเนินงาน แกนนำสุขภาพเป็นหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการ เจ้าของสถานประกอบกิจการตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพพนักงานและการให้สนับสนุนในเชิงนโยบาย งบประมาณ เวลา และเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ และพนักงานซึ่งเป็นเจ้าของสุขภาพมีส่วนร่วมในกระบวนการ 2. จากการศึกษาทำให้ได้แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการ ได้แก่ 1) การสร้างการยอมรับจากผู้บริหาร 2) การพัฒนาศักยภาพของแกนนำสุขภาพ 3) การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน และ 4) การสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสุขภาพ จากผลการศึกษาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการเพื่อให้เจ้าของสถานประกอบกิจการตระหนักถึงความสำคัญ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกสำหรับสถานประกอบกิจการที่มีการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพนักงาน การขยายผลการอบรมนักพัฒนาสุขภาพในสถานประกอบกิจการไปยังสถานประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อให้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และพัฒนาทักษะการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่พนักงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง โดยบุคลากรสาธารณสุขมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพนักงานในสถานประกอบกิจการ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-07-06

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)