การพัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ของเด็กก่อนวัยเรียนไทย : บริบทครัวเรือน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

  • วัชรินทร์ แสงสัมฤทธิ์ผล กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  • ทับทิม ศรีวิไล กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ปทุมรัตน์ สามารถ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • ธวัชชัย ทองบ่อ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • เศวต เซี่ยงลี่ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
  • กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

พัฒนาการ, การเล่นอิสระ, กิจกรรมทางกาย, ปฐมวัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเพื่อพัฒนา (Research and development) นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย ช่วงอายุ 2-6 ปี ในบริบทครัวเรือนและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์สภาพปัญหาสถานการณ์ในปัจจุบัน ทฤษฎีพัฒนาการ แนวคิดกระตุ้นพัฒนาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย ช่วงอายุ 2-6 ปี ในบริบทครัวเรือนและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ระยะที่ 3 ศึกษาผลของรูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย ผ่านการวิจัยแบบกึ่งทดลองชนิดมีกลุ่มเปรียบเทียบวัดผลก่อนและหลังการทดสอบ ผลการศึกษาระยะที่ 1 พบว่าการกระตุ้นพัฒนาการเด็กควรคำนึงถึงพัฒนาการทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเคลื่อนไหว ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา การเข้าใจภาษา ด้านการใช้ภาษา และด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและผู้ดูแลเด็กภายใต้บริบทและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งใช้พัฒนารูปแบบในระยะที่ 2 พบว่ารูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย ช่วงอายุ 2-6 ปี ประกอบด้วย การเล่นด้วยกิจกรรมทางกาย 9 กิจกรรม และมุมการเล่นอิสระ 9 มุม โดยมีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา ทั้งฉบับ (IOC) เท่ากับ 0.85 โดยส่วนของกิจกรรมทางกาย มีค่า IOC เท่ากับ 0.74 (0.67-1) และค่า IOC ของมุมเล่นอิสระ มีค่าเท่ากับ 0.96 (0.67-1) และเมื่อทดสอบใช้ในระยะที่ 3 ผ่านการอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งๆ ละ 60 นาที เป็นเวลา 2 เดือนกับกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย 1) กลุ่มทดลองบริบทครัวเรือน 2) กลุ่มทดลองบริบทสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 3) กลุ่มทดลองบริบทครัวเรือนและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและ 4) กลุ่มเปรียบเทียบ ทำการเยี่ยมติดตามการใช้รูปแบบการเล่นในพื้นที่ศึกษา และเปรียบเทียบความแตกต่างของพัฒนาการ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการทดลองทั้งในกลุ่มทดลองและระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มเปรียบเทียบ โดยใช้สถิติ Paired sample t-test และ สถิติ One-way ANOVA การทดลองนำรูปแบบการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทยไปใช้ พบว่า หลังได้รับรูปแบบการเล่น เด็กในกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่ม มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ พบว่า ค่าเฉลี่ยจำนวนหัวข้อพัฒนาการที่เด็กผ่านเพิ่มขึ้นในกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่ม มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001, 0.01 และ 0.001 ตามลำดับ) โดยในกลุ่มทดลองที่เป็นบริบทครัวเรือนและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีค่าเฉลี่ยพัฒนาการที่เด็กผ่านสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่เป็นบริบทครัวเรือนหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเล่นอย่างเหมาะสม ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ควรนำรูปแบบการเล่นนี้ไปขยายผลทั้งในครัวเรือนและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กไทย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-10-25

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)