แนวทางการจัดการกากของเสียอันตรายที่เกิดจากสถานประกอบกิจการหรือโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมต่ำกว่า 50 แรงม้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้แต่ง

  • พรรณวรท อุดมผล สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย
  • เจษฎา ผาผง กองกฎหมาย กรมอนามัย

คำสำคัญ:

การจัดการกากของเสียอันตราย, สถานประกอบกิจการหรือโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมต่ำกว่า 50 แรงม้า, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์และแนวทางการจัดการกากของเสียอันตรายจากสถานประกอบกิจการหรือโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมต่ำกว่า 50 แรงม้าของสถานประกอบกิจการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เก็บรวบรวมข้อมูล ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ และการประชุมสนทนากลุ่ม ได้รับแบบสอบถามตอบกลับ จากบุคลากรของสถานประกอบกิจการ จำนวน 259 แห่ง จากจำนวนทั้งหมด 494 แห่ง (ร้อยละ 52.4) บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 113 แห่ง จากจำนวนทั้งหมด 189 แห่ง (ร้อยละ 59.8) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ดำเนินการระหว่าง มิถุนายน-ธันวาคม 2566 ผลการศึกษา พบว่า มีกากของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต จำนวน 145 แห่ง (ร้อยละ 56) จำแนกเป็นกากของเสียอันตรายที่เป็นของเหลว จำนวน 94 แห่ง (ร้อยละ 64.8) และกากของเสียอันตรายที่เป็นของแข็ง จำนวน 51 แห่ง (ร้อยละ 35.2) โดยสถานประกอบกิจการ มีการเก็บรวมรวมไว้แล้วนำไปขายเพื่อนำไปแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 99 แห่ง (ร้อยละ 68.3) มีหน่วยงานที่รับเก็บรวบรวม เก็บขนไปกำจัด 46 แห่ง (ร้อยละ 31.7) สถานประกอบกิจการ ร้อยละ 69.9 ไม่มีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ร้อยละ 46.3 ไม่มีการควบคุมกำกับผู้รับเก็บขน และร้อยละ 45.6 ไม่มีการควบคุมกำกับผู้รับกำจัด ร้อยละ 49.7 ไม่ได้ดำเนินการใช้เอกสารกำกับการขนมูลฝอย ตามการควบคุมการขนมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 113 แห่ง พบว่า มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับ การจัดการมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วย การสาธารณสุข จำนวน 78 แห่ง (ร้อยละ 69.0) การดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมการขนมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2565 มีการดำเนินการ 52 แห่ง จากจำนวนที่ตอบแบบสอบถาม 91 แห่ง (ร้อยละ 46.0) การจัดเก็บเอกสารเพื่อการตรวจสอบการขนส่งกากของเสียอันตราย มีการดำเนินการ จำนวน 30 แห่ง (ร้อยละ 33.0) จากการประชุมสนทนากลุ่ม ได้มีการร่วมกันพัฒนาแนวทางการจัดการกากของเสียอันตรายที่เกิดจากสถานประกอบกิจการหรือโรงงานใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมต่ำกว่า 50 แรงม้า และมีข้อเสนอให้นำแนวทางฯ ไปทดลองใช้ในพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาแนวทางและข้อเสนอในการบริหารจัดการกากของเสียอันตรายต่อไป ส่วนปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการกากของเสียอันตราย ของ อปท. พบว่า 1) ขาดการบังคับใช้กฎหมาย กับประชาชนและผู้ประกอบการ 2) ขาดองค์ความรู้ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และสถานประกอบกิจการ 3) ขาดบุคลากรและงบประมาณ ในการดำเนินงาน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การจัดการกากของเสียอันตรายจากสถานประกอบกิจการ ยังมีการดำเนินการตามกฎหมายไม่ครบถ้วน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบกิจการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรพัฒนาศักยภาพทั้งสองส่วน จึงได้เพื่อให้ดำเนินการจัดการกากของเสียอันตรายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-09-05

ฉบับ

บท

Original Articles (บทวิทยาการ)