การพัฒนารูปแบบการคัดกรองผู้ป่วยตามระดับความเร่งด่วนที่งานอุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลลำปลายมาศ
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
หน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉินเป็นด่านแรกที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่มีอาการเฉียบพลันอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยกะทันหันต้องได้รับการรักษาทันท่วงที
จากการปฏิบัติงานที่มีความรวดเร็วตามลักษณะงานของหน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองผู้ป่วยตามระดับความเร่งด่วนให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว อัตราการไหลเวียนของผู้ป่วยเร็วขึ้น เน้นการคัดกรองผู้ป่วยหนักหรือมีความเสี่ยงต่อการดูแลเร่งด่วน ระบุความรุนแรงที่ถูกต้องพร้อมทั้งปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มารับบริการ จำนวน 167 ราย ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 ประกอบด้วย การทบทวนระบบงานเดิม วางแผนและพัฒนาระบบงานใหม่ รูปแบบที่มีการพัฒนา คือ ปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองเป็นพยาบาลวิชาชีพเท่านั้น ใช้เกณฑ์ Emergency Severity Index (ESI) ในการแยกประเภทความเร่งด่วนและมีจุดประเมินซ้ำ โดยพยาบาลวิชาชีพใช้แนวทางการคัดกรองตามเกณฑ์การคัดแยกงานผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน (MOPH ED TRIAGE) ก่อนพบแพทย์มีระบบรายงานแพทย์ตามความเร่งด่วน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบบันทึกการคัดกรองผู้ป่วย แบบประเมินคุณภาพการคัดแยก แบบบันทึกข้อมูลการคัดแยกและการแบ่งระดับความฉุกเฉินตามมาตรฐาน Emergency Severity Index (ESI) เก็บข้อมูลในเดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 ผลการประเมินหลังการพัฒนา พบว่า เจ้าหน้าที่ยังคัดแยกประเภทผู้ป่วยไม่ถูกต้อง ร้อยละ 30.64 โดยคัดแยกต่ำกว่าเกณฑ์ (Under Triage) ร้อยละ 20.36 และพบว่ามีการคัดแยกสูงกว่าเกณฑ์ (Over Triage) ร้อยละ 10.18 สรุปได้ว่า การพัฒนารูปแบบการคัดกรองผู้ป่วยตามระดับความเร่งด่วนให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว ด้วยการปรับเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองเป็นพยาบาลวิชาชีพชีพ ใช้เกณฑ์ ESI ในการคัดแยกและคัดกรองซ้ำโดยพยาบาลวิชาชีพที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถช่วยลดอุบัติการณ์จากการคัดแยกผู้ป่วยผิดพลาดได้มากขึ้น ลดแออัดในห้องฉุกเฉินจากการใช้ทรัพยากรที่ต้องใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานคัดกรองผู้ป่วยเป็นระบบ
คำสำคัญ : ความเร่งด่วน, อุบัติเหตุและฉุกเฉิน