การดูแลผู้บริจาคโลหิต และปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการบริจาคโลหิต

ผู้แต่ง

  • สุรชัย จันทะวารีย์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           การเฝ้าระวังปฏิกิริยาและเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการรับบริจาคโลหิต (adverse donor reactions, ARD) เป็นการพัฒนาคุณภาพการบริการและความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิต วัตถุประสงค์ เพื่อเฝ้าระวังปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิต และพัฒนาการดูแลผู้บริจาคโลหิตวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิต ณ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลตำรวจและหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิต ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2564 รวม 3 ปี มีผู้บริจาคโลหิตทั้งสิ้น 4,353 ราย บริจาคที่งานธนาคารเลือด 3,187 ราย และหน่วยเคลื่อนที่ 1,166 ราย ผู้บริจาคทุกคนมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะบริจาคโลหิต ได้ผ่านการคัดกรองตามมาตรฐาน ของศูนย์บริการโลหิต แห่งชาติสภากาชาดไทย
ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลของการเกิดปฏิกิริยาในขณะ หรือภายหลังการบริจาคโลหิต ผลการศึกษา ผู้บริจาคโลหิตทั้งสิ้น 4,353 ราย แบ่งเป็นบริจาคในสถานที่ 3,187 ราย (73.21%)
และหน่วยเคลื่อนที่ 1,166 ราย (26.79%) พบอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งหมด 56 ราย (1.29%) เกิดขึ้นขณะอยู่ในห้องรับบริจาคโลหิต 15 ราย (0.47%) และในหน่วยเคลื่อนที่ 41 ราย (3.51%) แบ่งเป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ 9 ราย (0.20%) ส่วนใหญ่เป็นอาการเลือดออกนอกเส้นเลือด จำนวน 6 ราย (0.51%) ส่วนปฏิกิริยาอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดทั่วร่างกาย (vasovagal reaction, VVR) พบ 47 ราย (1.07%) แบ่งเป็น เล็กน้อย (mild), ปานกลาง (moderate) และ รุนแรง (severe) VVR ร้อยละ 0.89, 0.13 และ 0.04 ตามลำดับ นอกจากนี้พบอุบัติการณ์ของ ARD สูง ในผู้บริจาคโลหิตที่เป็นเพศหญิง และบริจาคโลหิตครั้งแรก สรุปผลการศึกษา พบว่า ผู้บริจาคโลหิตในหน่วยเคลื่อนที่เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์มากกว่าผู้บริจาคโลหิต ในสถานที่ ณ งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลตำรวจ และผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกอัตราการเกิด ARD สูงกว่าผู้บริจาคโลหิตประจำ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์เพื่อนำไปพัฒนาการดูแลผู้บริจาคโลหิตต่อไป การรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิตกลับมาบริจาคซ้ำ คือ การสร้างความประทับใจ ความรู้สึกที่ดีต่อการบริจาคโลหิต จะเป็นแรงดึงดูดใจให้ผู้บริจาคโลหิตกลับมาบริจาคซ้ำและต่อเนื่อง

 

คำสำคัญ :  ผู้บริจาคโลหิต, การบริจาคโลหิต, การเกิดปฏิกิริยาจากการบริจาคโลหิต

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2022-05-17

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)