ความสุขในการทำงานของบุคลากร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับความสุขในการทำงาน และปัจจัยที่มีผลต่อระดับความสุขในการทำงานของบุคลากร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ประชากร คือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุข อย่างน้อย 1 ปี จำนวน 97 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสำรวจความสุขด้วยตนเอง และแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน One way ANOVA และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา ดังนี้
1. ระดับความสุขในการทำงานของบุคลากรในภาพรวมอยู่ในระดับ มีความสุข (SD = 71.54) โดยในมิติที่ 3 น้ำใจดี มีค่าระดับความสุขสูงกว่าด้านอื่น (SD = 77.28) รองลงมา คือ ความสุขมิติที่ 5 ครอบครัวดี (SD = 76.05) และความสุขในมิติที่ 2 ผ่อนคลายดี มีค่าระดับความสุขตํ่ากว่าด้านอื่น (SD = 65.71)
2. ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความสุขในการทำงานของบุคลากร ได้แก่ สถานภาพสมรส จำนวนบุตร ลักษณะงานและประเภทการจ้าง โดยพบว่า
2.1 สถานภาพ กลุ่มที่มีสถานภาพโสด และสถานภาพแต่งงานและอยู่ร่วมกัน มีค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงาน สูงกว่ากลุ่มที่มีสถานภาพหย่า/แยกทาง/เลิกกัน
2.2 จำนวนบุตร กลุ่มที่ไม่มีบุตร และกลุ่มที่มีบุตร 1 คน มีค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงาน สูงกว่ากลุ่มที่มีบุตร 2 คน ขึ้นไป
2.3 ลักษณะงาน กลุ่มที่ทำงานสำนักงาน มีค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงานสูงกว่ากลุ่มที่ทำงานบริการ และกลุ่มที่ทำงานบริการ มีค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงาน สูงกว่ากลุ่มที่ทำงานบริหาร
2.4 ประเภทการจ้าง กลุ่มที่ได้รับการจ้างงานประจำและสัญญาจ้าง มีค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงาน สูงกว่ากลุ่มที่ประเภทจ้างรายวัน
3. ผลการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า ผู้บริหารให้การสนับสนุนการดำเนินงานองค์กรสร้างสุขทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพเงิน
คำสำคัญ : ความสุข, การทำงาน, บุคลากร, องค์กรแห่งความสุข