ผลการจัดซื้อยาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงร่วมการสืบราคายาในโรงพยาบาลชัยภูมิ
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
ความเป็นมา การจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงยังขาดการแข่งขันทางการตลาด ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาผลการจัดซื้อยาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงร่วมการสืบราคายาของโรงพยาบาลชัยภูมิ
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการจัดซื้อยาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงร่วมการสืบราคายา (วิธีใหม่) ในปีงบประมาณ 2565, 2566 เปรียบเทียบกับวิธีเฉพาะเจาะจงแบบไม่ได้สืบราคา (วิธีเดิม) ในปีงบประมาณ 2565 (ตามแผนจัดซื้อปี 2565) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดซื้อยาด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงกับบริษัทยาสำหรับโรงพยาบาลชัยภูมิ และโรงพยาบาลอื่นๆ
วิธีการ เปรียบเทียบมูลค่าจัดซื้อยาด้วยวิธีใหม่ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 กับการจัดซื้อยาด้วยวิธีเดิมปีงบประมาณ 2565
ผลการศึกษา มูลค่าการจัดซื้อยาด้วยวิธีใหม่ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ลดลงจากวิธีเดิม 1,326,091.87 บาท (7.06%) และ 1,444,322.35 บาท (7.69%) ตามลำดับ การจัดซื้อยาที่มีผู้จำหน่ายหลายรายด้วยวิธีใหม่ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ลดลงได้ 1,219,159.47 บาท (8.71%) และ 1,342,827.87 บาท (9.60%) ตามลำดับ ส่วนการจัดซื้อยาจากผู้จำหน่ายรายเดียวด้วยวิธีใหม่ในปี 2565 และ 2566 ลดลงได้ 106,932.40 บาท (2.23%) และ 101,504.48 บาท (2.11%) ตามลำดับ
สรุป การจัดซื้อด้วยวิธีใหม่สามารถลดมูลค่าการจัดซื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ (P< 0.05) เมื่อเทียบกับวิธีเดิมโดยเฉพาะรายการยาที่มีผู้จำหน่ายมากกว่า 2 รายขึ้นไป
คำสำคัญ : พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560, การจัดซื้อยา, ราคากลาง