ระดับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
เขตสุขภาพที่ 12 มีภารกิจหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับเขตสุขภาพที่คำนึงถึงความสอดคล้องของนโยบายในทุกระดับ แต่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมน้อย ทำให้ขาดผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยชี้แนะ ผู้วิจัยจึงต้อการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติต่อการมีส่วนร่วม พฤติกรรมขององค์กร ที่มีต่อการมีส่วนร่วมและระดับการ
มีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพที่ 12 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ในการ
จัดทำแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพที่ 12 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมและพฤติกรรมองค์กรที่มีต่อการ
มีส่วนร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพที่ 12 และ 4) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ
ผู้บริหาร ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นผู้บริหารของเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 40 คน
คิดเป็นร้อยละ 89.0 ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ในการรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา ประกอบ
ไปด้วย ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมานประกอบด้วย สถิติ T-test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
โดยมีการกำหนดนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า
1. ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริหาร จำนวน 40 คน ส่วนมากเป็นเพศชาย ร้อยละ 65.0 อายุมากกว่า 51 ปีขึ้นไป ร้อยละ 65.0 จบการศึกษาระดับปริญญาโท ร้อยละ 67.5 การดำรงตำแหน่งของผู้บริหารเกือบครึ่งหนึ่งเป็นรองผู้อำนวยการ ร้อยละ 42.5 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 22.5 และดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร้อยละ 7.5 ระยะเวลาในการเป็นผู้บริหารมากกว่าครึ่งเป็นผู้บริหารไม่เกิน 1 ปี ร้อยละ 52.5 ผู้บริหารเกือบทั้งหมดเคยได้รับการอบรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์
2. ผู้บริหารมีความเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านการกำหนดวิสัยทัศน์ ด้านการประเมินผล ด้านการวางแผน และด้านการดำเนินการ ทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านที่มีประโยชน์ต่อองค์กร ด้านประโยชน์ที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และด้านประโยชน์ต่อผลลัพธ์ของงาน พฤติกรรมขององค์กรต่อการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านระดับบุคคล ด้านระดับองค์กร และด้านระดับกลุ่ม มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพที่ 12 อยู่ในระดับมาก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ด้านการมีส่วนร่วมในการประเมินผล และด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ระดับปานกลาง 1 ด้าน คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการวางแผน ค่าเฉลี่ย 3.34
3. ผู้บริหารที่มี เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง และตำแหน่งการบริหารมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ไม่แตกต่างกันที่ระดับ 0.05
4. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์
เขตสุขภาพที่ 12 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
5. ทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของ
ผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 ที่ระดับ 0.05
6. พฤติกรรมองค์กรที่มีต่อการมีส่วนร่วม กับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ข้อเสนอแนะ
แนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพที่ 12 ควรสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้กับผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ผ่านการจัดประชุม สัมมนา คู่มือการทำงาน การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ การสื่อสารจากล่างขึ้นบน หรือการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
คำสำคัญ : การมีส่วนร่วม, ผู้บริหาร, แผนยุทธศาสตร์เขตสุขภาพที่ 12