การจัดบริการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพในคลินิกโรคหัวใจล้มเหลวโรงพยาบาลบรบือ

ผู้แต่ง

  • กรวรรส เลิศรัตนกรธาดา วารสารวิชาการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม

บทคัดย่อ

บทนำ

 

            โรคหัวใจล้มเหลว เป็นโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด
ซึ่งพบบ่อยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก มีอัตราการตายสูง (10% ต่อปี) อัตราการนอนโรงพยาบาลนานและคุณภาพชีวิตลดลง ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและแรงงานบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีโรคร่วมหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานหลายชนิด การบริหารยาจึงมีความสลับซับซ้อน ปัจจุบันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวพัฒนาไปมาก และสามารถจัดบริการได้อย่างครอบคลุมตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล โดยเน้น
การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด
นักโภชนาการ เป็นต้น ทำงานประสานกันเพื่อการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ โรงพยาบาลบรบือได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคดังกล่าว จึงจัดตั้งคลินิกโรคหัวใจล้มเหลวแบบสหสาขาวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การปรับยาอย่างเหมาะสม การปรับสมดุลโภชนาการ การประเมินสมรรถนะและการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อผลลัพธ์ในการลดอัตรา
การนอนโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว

            ตัวชี้วัดในการแสดงคุณภาพของคลินิกโรคหัวใจล้มเหลว คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวได้เข้ารับบริการในคลินิกเฉพาะโรค ได้รับการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง    (Echocardiogram) มีความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลตัวเอง ได้รับยารักษาทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่ม Beta-blocker 2. Angiotensin II Converting Enzyme inhibitors (ACEI) หรือ Angiotensin II Receptor Blockers (ARB) 3. Mineralocorticoid Receptor Antagonists (MRA) โดยที่ไม่มีข้อห้ามใช้ ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนของคุณภาพของระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวว่ามีคุณภาพเหมาะสมเพียงใด โดยผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานจะแสดงออกในรูปแบบของคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ดีขึ้นด้วยการประเมินสมรรถนะ
แบบ Functional Class การลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวหลังเข้ารับบริการคลินิกเฉพาะโรค ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงระบบ การประสานงานในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวอย่างมีแบบแผนที่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีความรู้ ความเข้าใจในการรักษาและสามารถดูแลตัวเองในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คำสำคัญ : โรคหัวใจล้มเหลว, การจัดบริการแบบสหสาขาวิชาชีพ, คลินิกเฉพาะโรค

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)