การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต โดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา บ้านหนองแวง หมู่ 1 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • สุกัญญา วัฒนประไพจิตร วารสารวิชาการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์ของการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต 2) เพื่อศึกษา การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และ 3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต บ้านหนองแวง หมู่ 1 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม

 รูปแบบและวิธีวิจัย : การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระยะเวลาวิจัย กุมภาพันธ์ 2565 –กรกฎาคม 2566 กลุ่มเป้าหมายและผู้ร่วมวิจัย ได้แก่ ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต
ญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต อาสาสมัครสาธารณสุข แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแวงน่าง ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด โรงพยาบาลมหาสารคาม พระภิกษุ รวม 80 คน เก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติ จำนวน ร้อยละ

ผลการศึกษา : 1) ปี 2563 - 2565 ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต กลุ่มสีแดงเพิ่มขึ้นทุกปีและก่อความรุนแรงในชุมชน ผู้ป่วยมีอาการทางจิตกำเริบ การรักษาไม่ต่อเนื่อง กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ ครอบครัวขาดการตระหนักในการดูแล ปกปิดข้อมูล ชุมชนตีตราบาป รังเกียจและหวาดกลัวผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต 2) การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต โดยชุมชนมีส่วนร่วม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา อบรม อสม.บั๊ดดี้ และแบ่งพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วย ตั้งศูนย์ตะวัน ฟ้าใสสานดวงใจ ดูแลผู้ป่วยจิตเวชหมู่บ้าน ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายสี่ประสานทหารเสือ (ตำรวจ สาธารณสุข ปกครอง ท้องถิ่น) ในการขับเคลื่อนงานคืนข้อมูลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาปัญหาและแนวทางการดำเนินงานแต่ละวงรอบ จนได้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต โดยชุมชนมีส่วนร่วม 3) ผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต โดยชุมชนมีส่วนร่วม พบว่า จากผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต จำนวน 15 คน แบ่งเป็น สีแดง 7 คน เหลือง 4 คน เขียว 3 คน และขาว 1 คน เมื่อติดตามผู้ป่วยครบ 1 ปี พบว่า สามารถลดระดับความรุนแรงของอาการทางจิตของผู้ป่วยยาเสพติด โดยไม่มีผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง 3 คน สีเขียว 10 คน และสีขาว 2 คน

สรุปผลการศึกษา : การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต โดยชุมชนมีส่วนร่วม ได้ใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในทุกขั้นตอน ทำให้ได้รูปแบบที่มีประสิทธิผล เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

 

คำสำคัญ : ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต, ชุมชนมีส่วนร่วม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2024-06-24

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)