แนวทางบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการจัดงานศาสนพิธี Management guidelines to enhance work effectiveness in the religious ceremony.
บทคัดย่อ
บทนำ (Introduction)
สังคมไทยถือว่าศาสนามีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของสังคม จนกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชนพลเมืองของสังคม ดังนั้น ศาสนาจึงถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนพลเมืองได้ใช้หลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ มาเป็นเครื่องมือในการประพฤติปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาจิตใจของตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน และประเทศชาติ ให้มีความมั่นคงและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเกิดความสมานฉันท์ ดังนั้น ศาสนาทุกศาสนาจึงจำเป็นต้องมีพิธีกรรมทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการให้ศาสนิกชนของตน ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมร่วมกัน ปราชญ์ทั้งหลายจึงได้ให้ความสำคัญของศาสนพิธีไว้ว่า “เป็นดังเปลือกของต้นไม้ ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มแก่นของต้นไม้ คือ เนื้อแท้อันเป็นสาระสำคัญของศาสนาไว้” ซึ่งเมื่อกล่าวให้ถูกต้องก็สามารถกล่าวได้ว่าศาสนพิธี และศาสนธรรมของศาสนาทั้งสองส่วนนี้ ย่อมมีความสำคัญเสมอกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะหากไม่มีศาสนธรรมอันเป็นแก่นแท้ของศาสนา ศาสนพิธีก็คงจะอยู่ได้ไม่นาน หรือหากมีเฉพาะศาสนธรรมอันเป็นแก่นแท้ของศาสนา แต่ไม่มีศาสนพิธี แก่นแท้ของศาสนาก็ย่อมอยู่ได้ไม่นานเช่นกัน1
สอดคล้องกับประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)2 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 123 ได้มีนโยบายส่งเสริมการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการสืบสาน ศาสนพิธี ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาของแต่ละศาสนาที่มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อได้ยึดถือปฏิบัติพิธีกรรมในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกิด การตาย การแต่งงาน การทำบุญ และบางพิธีกรรมเป็นความเชื่อของท้องถิ่น ซึ่งแต่ละศาสนามีพิธีกรรมที่นำหลักธรรมคำสอนของศาสนาลงสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและศาสนิกชนของแต่ละศาสนาได้ยึดถือปฏิบัติพิธีกรรมในโอกาสต่างๆ ตามความเชื่อและศรัทธาดั้งเดิมของท้องถิ่นมาแต่โบราณ และบางพิธีกรรมเป็นความเชื่อของท้องถิ่นที่ไม่ควรนำความเชื่อต่างศาสนิกหรือต่างภูมิภาคไปปะปนจนเกิดความผิดเพี้ยน