การประเมินผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) จังหวัดสงขลา จำนวน 175 แห่ง โดยใช้เกณฑ์ตามคู่มือแนวทางการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลติดดาว (รพ.สต.ติดดาว) ในช่วงปี พ.ศ.2560-2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) จังหวัดสงขลา 2) เปรียบเทียบผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) ปีงบประมาณ 2561-2562 และตามขนาด รพ.สต. และ 3) ศึกษาปัจจัยความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยประเมินผล เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากผลการประเมินตามเกณฑ์คุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์กลุ่มผู้บริหาร ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ ทีมพี่เลี้ยงระดับอำเภอ และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) ผ่านเกณฑ์ประเมินฯ ปีงบประมาณ 2560 - 2562 คิดเป็นร้อยละ 7.43, 62.29 และ 30.29 ตามลำดับ รวมผ่านเกณฑ์สะสม ร้อยละ 100 เมื่อเปรียบเทียบผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว) ปีงบประมาณ 2561-2562 และตามขนาด รพ.สต. จำนวน 162 แห่ง พบว่า ปีงบประมาณ 2561 รพ.สต. ผ่านเกณฑ์การประเมินฯ จำนวน 109 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.28 และปีงบประมาณ 2562 ผ่านเกณฑ์ประเมินฯ จำนวน 53 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32.72 เมื่อจำแนกตามขนาด รพ.สต. ปีงบประมาณ 2561 พบว่า รพ.สต.ผ่านเกณฑ์ประเมินฯ มากที่สุด คือ รพ.สต.ขนาด L ร้อยละ 87.5 รองลงมา คือ รพ.สต.ขนาด M และ รพ.สต.ขนาด S คิดเป็นร้อยละ 67.05 และ 32.95 ตามลำดับ ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คือ 1) การนำองค์กร กลยุทธ์ขององค์กร กำหนดเป้าหมาย วางแผนการดำเนินงาน และถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ 2) โครงสร้างขององค์กร และมอบหมายงานที่ชัดเจน 3) ระบบการปฏิบัติงาน บริหารจัดการเป็นระบบ ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายได้ดี 4) ศึกษาเกณฑ์คุณภาพฯ กระบวนการประเมิน วิเคราะห์และพัฒนาส่วนขาด แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีดำเนินงาน ติดตามและประเมินผล การดำเนินงาน 5) พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงาน มีทีมสหสาขาวิชาชีพเป็นพี่เลี้ยง 6) การจัดรูปแบบการประเมินที่เหมาะสม ผู้บริหารทุกระดับให้ความสำคัญ มีการจูงใจให้บุคลากรเห็นความสำคัญและร่วมดำเนินงาน 7) ค่านิยมร่วม บุคลากรมีความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ เสียสละ ปฏิบัติงานเป็นทีม ปัญหาอุปสรรค พบว่า อัตรากำลังไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ ผลลัพธ์งานยังดำเนินการได้ไม่ครอบคลุม เกณฑ์คุณภาพฯ มีรายละเอียดค่อนข้างมาก
คำสำคัญ : การประเมินผลการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.ติดดาว), ปัจจัยความสำเร็จ