ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร

ผู้แต่ง

  • Prajak Penpo

บทคัดย่อ

                                                                                                                บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อศึกษาพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตรและศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมของผู้สูงอายุ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้สูงอายุในเขตอำเภอวังทรายพูน สำหรับตอบแบบสัมภาษณ์ จำนวน 370 คน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องสำหรับการสนทนากลุ่ม จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้การวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์และแบบสนทนากลุ่ม ซึ่งได้ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและค่าความเชื่อมั่น ได้ค่า IOC เท่ากับ 0.96  ได้ค่าความเชื่อมั่นของความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ เท่ากับ 0.89 และได้ค่าความเชื่อมั่นของพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ เท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ด้วยไคสแควร์ (Chi - Square test) และสรุปบรรยายความ

            ผลการวิจัย พบว่า ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 60.27 เป็นเพศชาย ร้อยละ 39.73 มีอายุเฉลี่ย 69.63 จบประถมศึกษา ร้อยละ 84.32 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 71.89 ส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพ ร้อยละ 42.97 มีรายได้เฉลี่ย 2,027.57 บาทต่อเดือน รายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 49.46 มีโรคประจำตัว ร้อยละ74.32 มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ร้อยละ 95.41 ได้รับการอบรมหรือประชุมด้านสุขภาพ ร้อยละ 50.81 ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ร้อยละ 67.03 และได้ตรวจสุขภาพ ร้อยละ 85.68 ปัจจัยด้านความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 75.95 รองลงมา ระดับมาก  ร้อยละ 14.86 และระดับน้อย ร้อยละ 9.19 พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 68.65 รองลงมา ระดับมาก ร้อยละ 17.30 และระดับน้อย ร้อยละ 14.05

            ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส อาชีพ รายได้ การเข้ารับการอบรมหรือประชุม การได้รับข้อมูลข่าวสาร การตรวจสุขภาพ ปัจจัยด้านความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ ปัจจัยด้านความคิดและอารมณ์ต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพในภาพรวม และรายด้าน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้

            ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมของผู้สูงอายุ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร สรุปผลปัญหาและข้อเสนอแนะ พบปัญหาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง ด้านออกกำลังกายและด้านโภชนาการ ข้อเสนอแนะในการพัฒนา คือ อบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุ จัดทีมสุขภาพไปตรวจสุขภาพที่บ้าน และจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายและลานกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดในการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ

            ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย ควรกำหนดการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเป็นนโยบายเน้นหนัก ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล และเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมของผู้สูงอายุ

คำสำคัญ : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ, พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-11-10

ฉบับ

บท

Original Articles (นิพนธ์ต้นฉบับ)