ความสุขของบุคลากรในโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ปี 2562
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยความสุขของบุคลากรในโรงพยาบาล สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ปี 2562 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้โปรแกรม Happynometer ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข ในโรงพยาบาลทุกแห่ง สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขของบุคลากร และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล กับระดับความสุข วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และ t-test และ Anova ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คิดเป็นร้อยละ 70.2 – 79.8 มีกลุ่มอายุระหว่าง 20 -30 วุฒิการศึกษา อยู่ในระดับปริญญาตรี สถานภาพสมรสแต่งงานและอยู่ร่วมกัน ลักษณะงานที่ทำเป็นงานด้านบริการ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน อยู่ระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท มิติของความสุขที่ส่วนใหญ่มีระดับต่ำกว่า ร้อยละ 60 ได้แก่ มิติสุขภาพดี มิติการผ่อนคลาย มิติครอบครัวที่ดี มิติสังคมดี มิติการหาความรู้ มิติการใช้เงินเป็น และมิติการทำงานดี ส่วนมิติที่มีระดับสูงว่าร้อยละ 60 ได้แก่ มิติน้ำใจงาม และมิติคุณธรรม รวมทั้งค่าเฉลี่ยความสุขโดยรวม ผลการทดสอบสมมุติฐาน พบว่า บุคลากรสาธารณสุขที่มีลักษณะข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล ต่างกันจะมีระดับความสุขแต่ละมิติแตกต่างกันที่ระดับความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95 (นัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05)
คำสำคัญ : ความสุขของบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาล : Happiness of personnel In hospital