การปวดดีดกลับในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียลโดยใช้อัลตร้าซาวน์นำทาง ในการผ่าตัดกระดูกเรเดียสส่วนปลายหัก
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
บทนำ: การฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียลในการผ่าตัดกระดูกเรเดียสส่วนปลายหักเป็นการระงับความรู้สึกที่เหมาะสม สามารถระงับปวดหลังผ่าตัดได้ดี แต่พบว่าเมื่อหมดฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่จะนำไปสู่การปวดดีดกลับที่สูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อประสบการณ์ความปวดหลังผ่าตัดที่ไม่ดี
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการเกิดการปวดดีดกลับในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียลโดยใช้อัลตร้าซาวน์นำทาง (Ultrasound-guided supraclavicular brachial plexus block) ประเมินการปวดดีดกลับที่เกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดกระดูกเรเดียสส่วนปลายหัก ภายใต้การระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียล (Ultrasound-guided supraclavicular brachial plexus block)iด้วยi2% lidocaine with adrenaline 1:200,000 ปริมาณ 10 มิลลิลิตร ร่วมกับ 0.5% bupivacaine ปริมาณ 10 มิลลิลิตร ในการผ่าตัดด้วยวิธี closed reduction with K wire fixation หรือ opened reduction and internal fixation with volar plate and screw จำนวน 78 ราย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 30 เมษายน 2563 โรงพยาบาลตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บันทึกข้อมูล 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ได้แก่ คะแนนปวดที่ 0, 2, 4, 6, 8, 12, 16, 20, 24 ชั่วโมงหลังสกัดข่ายประสาท เวลาที่เริ่มปวดดีดกลับและปริมาณยาฉีดมอร์ฟีนที่ได้รับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความต่างของค่าเฉลี่ยของเวลาการปวดดีดกลับ คะแนนปวดดีดกลับ ปริมาณยาฉีดมอร์ฟีนที่ได้รับใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด แยกตามผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดแต่ละวิธีโดยใช้สถิติทดสอบ Independent t-test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยมีการปวดดีดกลับที่เวลาเฉลี่ย 564.2 นาที คะแนนความปวดเฉลี่ย 4.8 คะแนน ได้รับยาฉีดมอร์ฟีนเฉลี่ย 1.2 มิลลิกรัม มีผู้ป่วยที่ได้รับยาฉีดมอร์ฟีน 22 ราย จาก 78 ราย (ร้อยละ28.2) เปรียบเทียบแยกการผ่าตัดแต่ละวิธีพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบ closed reduction with K wire fixation กับ opened reduction and internal fixation with volar plate and screw มีระยะเวลาการปวดดีดกลับเฉลี่ย 544.0 และ 609.8 นาที คะแนนความปวดดีดกลับ 4.8 และ 4.7 คะแนน ปริมาณยาฉีดมอร์ฟีนที่ได้รับ 1.2 และ 1.1 มิลลิกรัม โดยทั้ง 2 วิธีไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปและข้อเสนอแนะ: ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกเรเดียสส่วนปลายหักภายใต้การระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียลโดยใช้อัลตร้าซาวน์นำทาง มีการปวดดีดกลับที่เวลาเฉลี่ย 564.2 นาที หากแยกตามการผ่าตัดแต่ละวิธีพบว่า การปวดดีดกลับ คะแนนความปวด ปริมาณยาฉีดมอร์ฟีนที่ได้รับ และจำนวนครั้งที่ได้รับยาฉีดมอร์ฟีน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การปวดดีดกลับมีผลต่อประสบการณ์ที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย หากผู้ป่วยได้รับการประเมินและให้ยาแก้ปวดก่อนเวลาที่เกิดการปวดดีดกลับ จะสามารถลดความรุนแรงและบรรเทาอาการปวดได้
คำสำคัญ: การปวดดีดกลับ, ฉีดยาชาเฉพาะที่สกัดข่ายประสาทเบรเคียล, ผ่าตัดกระดูกเรเดียสส่วนปลายหัก