แรงจูงใจที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
งานวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแรงจูงใจของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ 2) ศึกษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ และ
3) ศึกษาแรงจูงใจที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมแพ 6 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างชั่วคราว (รายวัน) จำนวน 229 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่แบบสอบถาม มีทั้งหมด 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 สอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ตอนที่ 2 สอบถามเกี่ยวกับแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน มี 2 ด้าน คือ ปัจจัยจูงใจ และปัจจัยค้ำจุน ตอนที่ 3 สอบถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุ
ผลการวิจัย พบว่า
1. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานด้านปัจจัยจูงใจและปัจจัยค้ำจุนโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยพบว่าปัจจัยจูงใจ ด้านลักษณะงานที่ปฏิบัติมีมากที่สุด รองลงมาตามลำดับ คือ
ด้านความสำเร็จในงาน ด้านความรับผิดชอบ ด้านการยอมรับนับถือ และด้านความก้าวหน้า ส่วนปัจจัยค้ำจุน พบว่า ด้านสถานะทางอาชีพ มีมากที่สุด รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ด้านการนิเทศงาน ด้านวิธีการปกครองบังคับบัญชา ด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชาซึ่งเท่ากับด้านความมั่นคงในการทำงาน ด้านนโยบายและการบริหาร และด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน
2. ระดับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยรวมอยู่ระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ด้านค่าใช้จ่าย รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านเวลา ด้านกระบวนการทำงานซึ่งมีค่าเท่ากับด้านปริมาณงาน และด้านคุณภาพงาน
3. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานด้านปัจจัยจูงใจและด้านปัจจัยค้ำจุนมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์
สหสัมพันธ์ (R) = .733 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยตัวแปรทั้งสองร่วมกันพยากรณ์ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมแพ ได้ร้อยละ 53.7
(R2 = 0.537)
คำสำคัญ: แรงจูงใจ, ประสิทธิภาพ, การปฏิบัติงาน, บุคลากรภาครัฐ