This is an outdated version published on 2024-01-04. Read the most recent version.

กระท่อม

ผู้แต่ง

  • สิทธิชัย ตันติภาสวศิน โรงพยาบาลชลบุรี

บทคัดย่อ

กระท่อมเป็นพืชพื้นเมืองของไทยและมาเลเซีย มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงทวีปแอฟริกา มีสรรพคุณทางยาถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ กระท่อมมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น อีถ่าง อีแดง กระอ่วม ท่อม ท่ม เป็นพืชในตระกูล Mitragyna speciosa อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ กระท่อมก้านเขียว (แตงกวา), กระท่อมชนิดขอบใบหยัก (ยักษ์ใหญ่, หางกั้ง) และกระท่อมก้านแดง กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง แก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้น และชอบแดดปานกลาง โดยพื้นที่ปลูกกระท่อมในประเทศไทยจะเป็นโซนภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และพบว่าดินในภาคกลางอย่างจังหวัดปทุมธานี

สารสำคัญที่พบในใบกระท่อม คือ Mitragynine, Speciogynine, Paynantheine, Speciociliatine ซึ่งบางส่วนออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ถึงอย่างนั้นกระท่อมก็มีสรรพคุณทางยาอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายได้ ในตำรับยาโบราณใช้ใบกระท่อมสดหรือใบแห้ง เคี้ยว สูบ หรือชงกับน้ำ ดื่มรักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง สรรพคุณของกระท่อมยังช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยหากใช้กระท่อมในขนาดต่ำจะช่วยลดอาการเมื่อยล้า เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะช่วยกดความรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัวได้ ช่วยให้มีความอึดมากขึ้น ช่วยให้ทำงานได้นานขึ้น จะบอกว่ากระท่อมเป็นยาโด๊ปก็คงไม่ผิดนัก เพราะพืชชนิดนี้ออกฤทธิ์เพิ่มพละกำลัง กระตุ้นร่างกายให้อดทนต่องานหนัก ทนแดดได้นานขึ้น และยังช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานอึดขึ้นในขณะที่ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วย

ใบกระท่อมมีสารสำคัญที่ชื่อ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งพบในใบกระท่อมไทยสูงถึง 66% โดยสารชนิดนี้เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่ม LSD และยาบ้า จึงมีฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด กระตุ้นความรู้สึกเคลิ้มสุข และทำให้ง่วงซึม และสารเซเว่นไฮดร็อกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) โดยสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด (Antinociceptive) ได้ดีกว่ามอร์ฟีนถึง 13 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่ากระท่อมให้ผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนหลายประการ เช่น ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท

โทษและข้อควรระวังหากเสพกระท่อมทุกวันต่อเนื่องไปนาน ๆ อาจเกิดการเสพติด และเกิดผลข้างเคียง ดังนี้
ผิวคล้ำลงจนดูเหมือนผิวแห้งขาดน้ำ ปากแห้ง ริมฝีปากคล้ำ ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ  นอนไม่หลับ กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน จากการเมากระท่อม ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เมื่อมีภาวะเสพติดแล้วหยุดใบกระท่อม เวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝนจะมีอาการหนาวสั่นคล้ายจะเป็นไข้ บางรายที่เสพมากเกินไปอาจพบอาการแขนกระตุกเองได้ ซึมเศร้า เซื่องซึม ไม่อยากพูดจากับใคร พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง หรืออาจมีอารมณ์ก้าวร้าวไปเลย ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ไอมากขึ้น มีน้ำตา น้ำมูกไหล  เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย นอกจากนี้คนที่กินใบกระท่อมโดยไม่รูดก้านใบออก อาจทำให้เกิดถุงท่อมในลำไส้ เพราะก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ และเกิดพังผืดหุ้มรัดรอบ ๆ ก้อนกากกระท่อมจนเป็นก้อนถุงขึ้นมา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงลำไส้อุดตันได้ด้วย

ประวัติผู้แต่ง

สิทธิชัย ตันติภาสวศิน, โรงพยาบาลชลบุรี

หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

เผยแพร่แล้ว

2024-01-04

เวอร์ชัน