การจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขภาครัฐแบบเหมาจ่ายก่อนล่วงหน้า: ประสิทธิภาพและคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • อัจฉรา อ่วมเครือ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
  • อารยัน ตระหง่าน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กระทรวงสาธารณสุข
  • วงเดือน ปั้นดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

การเหมาจ่ายก่อนล่วงหน้า, การจ่ายตามหลัง, วันนอนผู้ป่วยใน, ประสิทธิภาพ

บทคัดย่อ

         ระบบการคลังสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นับแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๔ จากระบบการตามจ่าย (Retrospective Payment System: RPS) เป็นระบบการเหมาจ่ายก่อนล่วงหน้า (Prospective Payment System: PPS) โดยในปี ๒๕๔๔ ประชาชนที่มีการจ่ายค่าบริการแบบเหมาจ่ายก่อนล่วงหน้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคม ซึ่งมีเพียงร้อยละ ๗.๒ ที่เหลือเป็นกลุ่มประชาชนที่มีการจ่ายแบบตามหลัง ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล วิธีการจ่ายเงินให้สถานบริการได้ปรับเปลี่ยนไป โดยเป็นการเหมาจ่ายก่อนล่วงหน้าเป็นหลัก เหลือเพียงแต่กลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ที่ยังคงมีการจ่ายแบบตามหลัง ภาวะเช่นนี้ทำให้สถานบริการได้รับงบประมาณแบบจํากัด

          การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ ที่มีต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลรัฐทุกระดับในส่วนภูมิภาค การศึกษา ประกอบด้วย ๓ การศึกษาย่อย ได้แก่ ๑) การศึกษาเชิงปริมาณ เป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง วันนอนของผู้ป่วยใน กับผลการรักษา และวิเคราะห์ประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล ๒) การศึกษาในเชิงคุณภาพ จากโรงพยาบาลที่ได้รับการประเมินว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยในได้มีประสิทธิภาพ ศึกษาถึงปัจจัยแวดล้อมในเชิงบริหารที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยในได้มีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์สาเหตุที่โรงพยาบาลลดวันนอนผู้ป่วยใน ๓) การศึกษาเชิงปริมาณเมื่อประเมินความคิดเห็นของผู้ป่วยที่ถูกจําหน่ายออกจากโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการผู้ป่วยในได้มีประสิทธิภาพในเวลา ๑ เดือน หลังการจําหน่าย เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อบริการที่ได้รับ และความสำเร็จของการรักษา

           ผลการศึกษาแสดงว่า สถานบริการมีการปรับตัวครั้งใหญ่ วันนอนผู้ป่วยในทุกกลุ่มสิทธิประโยชน์ลดลง การตายในโรงพยาบาลลดลง ในขณะที่การกลับมารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในซ้ำสูงขึ้น โรงพยาบาลร้อยละ ๔๐ มีประสิทธิภาพการให้บริการผู้ป่วยในอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่บางโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับ ปานกลางและต่ำ พบว่าการลดลงของวันนอนไม่ได้เกิดจากความตั้งใจโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากมาตรการอื่น ๆ ด้วย เช่น การพัฒนาคุณภาพการบริการ ผู้ถูกจําหน่ายเกือบทุกรายพอใจผลการรักษาจึงเสนอแนะในเชิงนโยบายให้มีการจัดตั้งองค์กรประเมินและควบคุมกำกับการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของโรงพยาบาล สถานบริการทุกระดับต้องพัฒนาคุณภาพอย่างจริงจัง มีการลงนามในสัญญา เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลมีส่วนรับผิดชอบในกรณีรีบจำหน่ายและเกิดผลเสียกับผู้ป่วย ควรมีการปรับกลไกการจ่ายเงินผู้ป่วยใน ให้มีการร่วมจ่ายในกรณีการรับบริการเกินความจําเป็น

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-13

วิธีการอ้างอิง