โรคไข้เลือดออกเดงกีที่โรงพยาบาลปทุมธานี พ.ศ. ๒๕๔๔

ผู้แต่ง

  • ปราโมทย์ สุขวิชชัย โรงพยาบาลปทุมธานี

คำสำคัญ:

โรคไข้เลือดออกเดงกี, อาการและอาการแสดงที่สำคัญ, ชนิด, ไวรัสเดงกี

บทคัดย่อ

            ศึกษาย้อนหลังนี้ ทำในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่โรงพยาบาลปทุมธานี ตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการ ลักษณะทางคลินิก การดำเนินโรคและชนิดของไวรัส ไข้เลือดออกเดงกี จากผู้ป่วยในแผนกกุมารเวชกรรม ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Hemorrhagic Fever DHF) จำนวน ๓๑๒ ราย โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากองค์การอนามัยโลกและผลการตรวจทางไวรัสวิทยา การศึกษาพบว่าอัตราการเกิดโรคในเพศชาย : เพศหญิง มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ผู้ป่วย ที่พบส่วนใหญ่อายุระหว่าง ๑๐-๑๔ ปี (ร้อยละ ๕๑.๖) และไม่พบผู้ป่วยอายุต่ำกว่า ๑ ปี ช่วงระยะเวลาที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มารับการรักษาอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีจำนวน ๑๕๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓ และมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเมือง ร้อยละ ๔๔.๖ อาการสำคัญที่พบได้แก่ ไข้สูงลอย ๒-๗ วัน ร้อยละ ๙๖.๑ เบื่ออาหาร ร้อยละ ๙๔.๖ อาเจียนร้อยละ ๘๔.๖ เลือดกำเดาออกร้อยละ ๕.๔ อาเจียนเป็นเลือดร้อยละ ๓.๘ และถ่ายดำเป็นเลือดร้อยละ ๒.๒ และพบมีเกล็ดเลือดต่ำทุกราย การรักษาที่ได้รับเป็นการรักษาตามอาการ และแบบประคับประคอง ให้สารน้ำทั้งคอลลอยด์ (colloid) และคริสตัลลอยด์ (crystalloid) ผู้ป่วยได้รับเลือดทดแทน จำนวน ๑๐ ราย คิดเป็นร้อยละ ๓.๒ ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มช็อก (Dengue Shock Syndrome: DSS) ร้อยละ ๒๐.๕ แต่ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต จากการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อไวรัสเดงกีชนิด DEN-2 มากที่สุดร้อยละ ๔๗.๙ และรองลงมาเป็นชนิด DEN-1, DEN-3 และ DEN-4 คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๐, ๙.๙ และ ๓.๓ ตามลำดับ

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-13

วิธีการอ้างอิง