การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากสารฟอกขาวในหน่อไม้ดอง ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ผู้แต่ง

  • วันชัย วันทนียวงค์ โรงพยาบาลสอง จังหวัดแพร่

คำสำคัญ:

สารฟอกขาว, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์

บทคัดย่อ

                   สารฟอกขาวเป็นสารเคมีที่ใช้ในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหาร ทำให้มีสีขาว หากได้รับในประมาณเกิน กำหนดทำให้เกิดอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสารฟอกขาวประเภทโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ หากร่างกายได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เสียชีวิต การ ศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบติดตามกลุ่มย้อนหลังเพื่อหาสาเหตุของการระบาดและกำหนดแนวทาง ในการควบคุมโรคโดยได้นำเสนอผลการสอบสวนการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากสารฟอกขาว ใน โรงเรียนแห่งหนึ่ง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยการค้นหาผู้ป่วย ยืนยันการวินิจฉัย โรค และติดตามอาการตลอดจนตรวจสอบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ใช้การวิเคราะห์หาความเสี่ยงสัมพัทธ์ระหว่างกลุ่มผู้มีและไม่มีอาการ

                    พบผู้ป่วยทั้งหมด ๔๓ ราย จากจำนวนนักเรียน ครู และคนครัว รวม ๑๗๗ ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ ๒๔.๓ ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้อง (ร้อยละ ๗๙.๑) คลื่นไส้ และอาเจียน (ร้อยละ ๗๖.๗) โดย เริ่มมีอาการภายหลังกินอาหารกลางวันที่โรงเรียนในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ผู้ป่วยรายแรกเริ่มมีอาการ เมื่อเวลา ๑๒.๐๐ น. ระยะฟักตัว ๓๐ นาที ส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๘.๔) มีอาการในช่วง ๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. พบอาหารที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้คือ แกงหน่อไม้ดองใส่หมูที่เป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยมีความเสี่ยงสัมพัทธ์เท่ากับ ๖๐.๗๙ (๙๕% CI = ๘.๕๖-๔๓๑.๕๘) จากการตรวจอุจจาระของผู้ป่วย และคนครัว น้ำดื่ม และแกงหน่อไม้ดอง ไม่พบเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงในตัวอย่างทั้งหมด แต่ผลการทคสอบสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ให้ผลบวกในหน่อไม้ดองที่นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวัน และตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ๑๕.๗๙ มิลลิกรัม/กิโลกรัม

                    การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนแห่งนี้ อาจเกิดจากสารฟอกขาวในกลุ่มโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่กระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้ในกระบวนการถนอมอาหารหรือปรุงแต่งอาหาร ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบอาหารในโรงเรียนและผู้บริโภค ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-09-13

วิธีการอ้างอิง