ผลลัพธ์ทางคลินิกของการใช้นวัตกรรม หัวจี้ห้ามเลือดปลายแหลม
คำสำคัญ:
เครื่องจี้ตัดด้วยไฟฟ้า, หัวจี้ไฟฟ้า, การบาดเจ็บเนื้อเยื่อจากหัวจี้ไฟฟ้าบทคัดย่อ
การผ่าตัดส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หัวจี้ไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดและตัดเนื้อเยื่อในการทำผ่าตัด หัวจี้ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในโรงพยาบาลมีลักษณะปลายแบนใหญ่ ไม่เหมาะกับการผ่าตัดและการห้ามเลือดในบริเวณพื้นที่เล็กหรือแคบส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงระหว่างหัวจี้ไฟฟ้าห้ามเลือดปลายแหลมและหัวจี้ไฟฟ้าแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องผ่าตัดแผนกโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2565 จำนวน 140 คน โดยคัดเลือกการสุ่มอย่างง่ายแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 70 คนและกลุ่มควบคุม 70 คน โดยวิธีจับคู่รายบุคคล เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบบันทึกการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงการใช้หัวจี้ไฟฟ้าขณะผ่าตัด โดยผ่านการตรวจสอบความตรงและความเที่ยงจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ได้ค่าดัชนีความตรงเนื้อหาเท่ากับ 0.89 และ 0.85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงระหว่างหัวจี้ไฟฟ้าห้ามเลือดปลายแหลมและหัวจี้ไฟฟ้าแบบปกติโดยใช้สถิติเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของ 2 กลุ่ม ด้วย independent paired t-test ผลการศึกษาพบว่า การใช้หัวจี้ไฟฟ้าห้ามเลือดปลายแหลมเกิดการบาดเจ็บเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงขณะผ่าตัดน้อยกว่าการใช้หัวจี้ห้ามเลือดแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยสรุป หัวจี้ไฟฟ้าห้ามเลือดปลายแหลมเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะผ่าตัด สามารถป้องกันปัญหาการทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงและพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติการพยาบาลให้ดีขึ้น เกิดประโยชน์และสะดวกในการใช้งานและลดต้นทุนของโรงพยาบาล
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.