ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการขาดยาและการรักษาล้มเหลวในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในพื้นที่ สำนักงานป้องกั้นควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี
คำสำคัญ:
วัณโรค, การขาดยา, การรักษาลัมเหลว, วัณโรคดื้อยาบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการขาดยาและการรักษาล้มเหลวในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคจากการให้บริการทั้งในระดับโรงพยาบาลและในชุมชน รวมถึงปัญหาในมิติสังคมของผู้ป่วยเชื้อดื้อยา โดยศึกษาในพื้นที่ 7 จังหวัดที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่มีผลการตรวจเพาะเชื้อพบว่าดื้อต่อยา INH และ Rifampicin ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น MDR-TB โดยแพทย์ และเข้ารับการรักษาระหว่างปี 2549-2557 จำนวน 70 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มขาดยาและการรักษาล้มเหลว 35 คน และกลุ่มรักษาสำเร็จ 35 คน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ binary logistic regression ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 75.7 มีอายุระหว่าง 40-59 ปี กลุ่มรักษาสำเร็จร้อยละ 50.0 ปัจจัยด้าน การรับรู้ความเสี่ยงและประโยชน์ของการรักษาและไม่รักษาโรควัณโรคดื้อยา การเข้าถึงบริการ การสนับสนุนทางสังคม การดูแลตัวเองและป้องกันควบคุมโรควัณโรคดื้อยา และปัจจัยด้านการไม่มีรายได้ระหว่างการรักษาโรควัณโรคดื้อยา สามารถร่วมกันพยากรณ์ผลการรักษาล้มเหลวและการขาดยาในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาได้ร้อยละ 20.7 โดยมีร้อยละในการพยากรณ์ถูกต้องเท่ากับ 67.1 และพบว่าการไม่มีรายได้ระหว่างการรักษาวัณโรคดื้อยามีผลต่อการรักษาล้มเหลวและการขาดยาอย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05และแสดงว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่ไม่มีรายได้ระหว่างการรักษามีผลการรักษาล้มเหลวหรือขาดยา มากกว่าผู้ป่วยวัณโรค-ดื้อยาที่มีรายได้ 2.88 เท่า ปัญหาหลักของผู้ป่วยคือปัญหาด้านเศรษฐกิจครอบครัว การขาดรายได้ระหว่างการรักษา วัณโรคดื้อยา หากผู้ป่วยไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัวและหรือญาติแล้ว ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดยา และส่งผลต่อการรักษาล้มเหลว ดังนั้นกระบวนให้ความช่วยเหลือในระบบบริการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเรื่องความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยอย่างแท้จริงการจัดรูปแบบบริการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ควรดำเนินในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ที่มีความซับช้อนของปัญหามาก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการความร่วมมือกับคนในชุมชน ร่วมกับการดูแลกำกับการกินยาแบบมีพี่เลี้ยงอย่างเข้มข้น โดยทีมสหวิชาชีพและโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2017 Journal of Health Science- วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.