การพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน จังหวัดสมุทรสาคร

ผู้แต่ง

  • ศิริลักษณ์ มณีประเสริฐ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร

คำสำคัญ:

โรคไข้เลือดออก, รูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก, การมีส่วนร่วมของประชาชน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ของการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกและ พัฒนารูปแบบพร้อมประเมินประสิทธิผลของการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคที่ดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วยการวิจัยเชิงสำรวจซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 40 ตำบลของจังหวัดสมุทรสาครโดยการศึกษาจากระบบรายงานโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าสถิติ จำนวน ร้อยละและค่าอัตราส่วนต่อแสนประชากร และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ใช้กระบวนการศึกษาเชิงคุณภาพใน พื้นที่ตำบลที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงลำดับที่ 1 และ 2 ของแต่ละอำเภอ รวมทั้งสิ้น 6 ตำบล ดำเนินการโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้และประชุมกลุ่มระดมสมองเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้-เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและประชาชนตัวแทนครัวเรือนที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวมทั้งสิ้น 60 คน นำรูปแบบไปดำเนินการในพื้นที่วิจัย ระยะเวลา 1 ปี ติดตามการดำเนินงานด้วยการสังเกต การ สัมภาษณ์เชิงลึกและการสำรวจเอกสารหลักฐานในการดำเนินงานและประเมินผลด้วยอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกการเกิดผู้ป่วย second generation และค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย ผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของจังหวัดและอำเภอมีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกสูงเกินค่ามาตรฐาน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก second generation ใน 23 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 57.5 สอดคล้องกับค่า Housing Index (HI) =8.59 ซึ่งสูงใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน (HI10) และค่า Container Index (CI)=5.69 ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน (CI=0) เมื่อนำผลที่ได้ไปดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการพบว่า กิจกรรม ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่ยังดำเนินการโดยภาครัฐ มีการประสานงานกันน้อย บทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนไม่ชัดเจน ทำให้มีปัญหาด้านการสนับสนุนทรัพยากรในการป้องกันและควบคุมโรค การสื่อสารการเกิดโรค ยังไม่สามารถได้รับข้อมูลพร้อมเพรียงกันในขณะที่ประชาชนยังขาดความร่วมมือ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอต่อแนวทางคือจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกระดับตำบลและกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังก่อนเกิดโรคและเมื่อเกิดโรคตามมาตรฐาน กำหนดรูปแบบการสื่อสารการให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและกำหนดมาตรการทางสังคมขับเคลื่อนภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการประเมินประสิทธิผลหลังการปฏิบัติการพบว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกตำบล อัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงและไม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก second generation จึงเห็นควรนำรูปแบบที่ได้ไปขยาย ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-11-01

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ