การประเมินผลการดำเนินงานโครงการวัดผลการปฏิบัติงานคุณภาพด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ผู้แต่ง

  • อังคณา เจริญวัฒนาโชคชัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • เอกจิตรา สุขกุล ศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข นนทบุรี
  • ชลลดา นันทวิสัย ศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข นนทบุรี

คำสำคัญ:

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โปรแกรม STIQUAL, การวัดผลการปฏิบัติงาน, การพัฒนาคุณภาพ, การประเมินผล

บทคัดย่อ

STIQUAL model เป็นรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงานด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually trans-mitted infections; STI) ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2552 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริการ ระบบสารสนเทศและเพิ่มการเข้าถึงบริการด้าน STI และเอชไอวีของกลุ่มเป้าหมายภายใต้โครงการวัดผลการปฏิบัติงานคุณภาพด้าน STI ปี 2552-2553 เป็นการพัฒนาเครื่องมือวัดผลการปฏิบัติงาน (STIQUAL program) ปี 2554-2555 เป็นการทดลองใช้ในจังหวัดนำร่อง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการใน 4 ประเด็นคือ (1) โปรแกรม STIQUAL สามารถวัดผลการปฏิบัติงานด้าน STI ได้ถูกต้อง (2) เกิดการนำผลไปพัฒนาคุณภาพบริการ (3) เจ้าหน้าที่มีความรู้ ทักษะและความพึงพอใจต่อโปรแกรม และ (4) ปัจจัยที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพด้าน STI เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและการขยายผลต่อไป ผู้ประเมินทำการศึกษาเชิงพรรณนา โดยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2558 ใช้ข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในโปรแกรม STIQUAL ปี 2552-2555 และโปรแกรม STI/ VCT mini-record ปี 2556-2557 ของหน่วยบริการ วัดผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดคุณภาพที่สำคัญ 3 ครั้งห่างกัน ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ใช้แบบสอบถามความรู้ทักษะ และความพึงพอใจ การสัมภาษณ์เชิงลึกโดยการสนทนากลุ่มในประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรสาธารณสุขในระดับต่างๆ ใน 20 จังหวัดเป้าหมาย ผลการศึกษาพบว่า โครงการทำให้เกิดการใช้เครื่องมือในการวัดผลการปฏิบัติงานด้าน STI โดยโปรแกรม STIQUAL สามารถให้ผลที่ถูกต้องและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเรื่องการคัดกรองและการดูแลรักษา STI เกิดการสร้างเครื่องมือ พัฒนาคุณภาพงานด้าน STI ที่มีการนำไปใช้และสามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้ มีการอบรมเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ เจ้าหน้าที่มีความรู้ ทักษะ และความพึงพอใจในโปรแกรม ปัจจัยที่สนับสนุนการพัฒนา คุณภาพด้าน STI ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เช่น การอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่องานคุณภาพ STI การถอดบทเรียน เป็นต้น การใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ และการรู้เป้าหมายที่ชัดเจนของการพัฒนา โดยสรุป โครงการ วัดผลการปฏิบัติงานคุณภาพด้าน STI ทำให้เกิดการประเมินและนำไปสู่ การพัฒนาคุณภาพบริการ STI ผลการประเมินจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการออกแบบการดำเนินงานด้าน STI และการนำไปขยายผลต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2017-10-25

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ