ปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุของประชาชนวัยทำงาน: กรณีศึกษาเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร

ผู้แต่ง

  • อาภารัตน์ อิงคภากร สาขาการบริหารและพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นาถ พันธุมนาวิน สาขาการบริหารและพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

การเตรียมความพร้อม, การรับรู้, การเห็นประโยชน์, การมุ่งอนาคต, วัยสูงอายุ

บทคัดย่อ

จากสถานการณ์ของประชากรในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรในวัยเด็กลดลง แต่ในขณะที่ประชากรในวัยสูงอายุกลับมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ โดยวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุของประชาชนวัยทำงาน กรณีศึกษาเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือประชาชนที่มีอายุ 30-40 ปี จำนวน 188 คน เลือกตัวอย่างแบบบังเอิญ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุแบบขั้นตอน ทดสอบหาค่าความเชื่อมั่นโดย KR-20 และ Cronbach’s Alpha coef-ficient กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรอิสระที่ทำนายตัวแปรการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในรายด้านและภาพรวมมีดังนี้ (1) การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุด้านเศรษฐกิจ มีตัวแปรอิสระ 6 ตัว คือ การมุ่งอนาคต มีผลร้อยละ 22.6 ระดับการศึกษาสูงสุด ร้อยละ 31.7 การรับรู้นโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าวัยสูงอายุ ร้อยละ 36.5 การเห็นประโยชน์ฯด้านสุขภาพร่างกาย ร้อยละ 38.7 สถานภาพสมรส ร้อยละ 40.2 และรายจ่าย ร้อยละ 42.7 (2) การเตรียมความพร้อมด้านสังคม มีตัวแปร 5 ตัว คือ การมุ่งอนาคต มีผลร้อยละ 28.2 การเห็นประโยชน์ฯด้านจิตใจ ร้อยละ 33.7 ระดับการศึกษาสูงสุด ร้อยละ 35.6 รายได้ ร้อยละ 37.6 และการรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าวัยสูงอายุ ร้อยละ 39.5 (3) การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพร่างกาย มีตัวแปร 4 ตัว คือ การเห็นประโยชน์ฯด้านสุขภาพร่างกาย มีผลร้อยละ 12.3 การรับรู้นโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าวัยสูงอายุ ร้อยละ 16.0 การมุ่งอนาคต ร้อยละ 18.7 และระดับการศึกษาสูงสุด ร้อยละ 20.6 (4) การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ มีตัวแปร 6 ตัว คือ การเห็นประโยชน์ฯด้านจิตใจ มีผลร้อยละ 17.4 การรับรู้นโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าวัยสูงอายุ ร้อยละ 21.3 หนี้สิน ร้อยละ 24.3 อาชีพ ร้อยละ 27.3 การรับรู้สิทธิของผู้สูงอายุ ร้อยละ 30.3 และการมุ่งอนาคต ร้อยละ 32.6 (5) การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในภาพรวม มีตัวแปร 5 ตัว คือ การมุ่งอนาคต มีผลร้อยละ 26.7 การเห็นประโยชน์ฯ ด้านสุขภาพร่างกาย ร้อยละ 32.3 การรับรู้นโยบายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าวัยสูงอายุ ร้อยละ 38.3 ระดับการศึกษาสูงสุด ร้อยละ 42.7 และหนี้สิน ร้อยละ 44.6 จากการศึกษาครั้งนี้ ตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลคือ การมุ่งอนาคต มีอิทธิพลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุของประชาชนวัยทำงาน ทั้งในรายด้านและภาพรวม

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-03-11

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ