การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน

ผู้แต่ง

  • ไพศาล วรสถิตย์ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

ศูนย์สุขภาพดี, วัยทำงาน, พฤติกรรมสุภาพ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน ศึกษาผลการดำเนินการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน ความพึงพอใจต่อการให้บริการและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปฏิบัติงานศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานของโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่ง จำนวน 62 คน และผู้มารับบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในโรงพยาบาล 214 คน และนอกโรงพยาบาล 191 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ รูปแบบการดำเนินการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน แบบสอบถามการรับบริการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน แบบบันทึกผลการรับบริการ และแบบแนวทางการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และ paired t-test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานมีรูปแบบดำเนินการโดยมี ผู้จัดการศูนย์ 1 คน ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยการบูรณาการงานร่วมกัน อาจจัดสถานที่ไว้ที่ใดที่หนึ่งหรือแยกเป็นศูนย์โดยเฉพาะ เครื่องมือ อุปกรณ์ จัดให้มีแบบคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ เครื่องชั่งน้ำหนัก ที่วัดส่วนสูง สายวัดรอบเอว เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือโดยเบื้องต้น ดำเนินการให้บริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลในกลุ่มผู้มีสุขภาพดี กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่ วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคอื่นๆ โดยให้บริการตรวจคัดกรอง ตรวจสุขภาพ ตรวจสมรรถภาพทางร่างกาย ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกการออกกำลังกาย ประเมินการติดและหรือให้บริการเลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์ ให้บริการวัคซีน ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ตรวจคัดกรองโรคจากการประกอบอาชีพ และให้บริการตามชุดบริการ หลังจากการรับบริการ ผู้รับบริการกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน พบว่า มีพฤติกรรมสุขภาพดีกว่าก่อนการรับบริการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) มีน้ำหนัก เส้นรอบเอว การเลิกบุหรี่ สมรรถภาพทางร่างกายในเรื่องความจุปอด และความอ่อนตัว ดีกว่าก่อนการรับบริการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ทั้งในกลุ่มที่รับบริการในและนอกโรงพยาบาล ทั้งนี้ ผู้รับบริการในและนอกโรงพยาบาลมีความพึงพอใจต่อบริการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานในระดับมาก ร้อยละ 79.9 และ 80.6 ตามลำดับ มีปัญหาคือเรื่องการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน การบูรณาการงาน บุคลากรมีจำนวนน้อย ขาดเครื่องมือ ยังไม่มีชุดการให้บริการ และการเบิกจ่ายในการให้บริการตามสิทธิต่างๆ จากผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการดำเนินการศูนย์สุขภาพดีวัยทำงานดังกล่าวมีประสิทธิผลที่ดี ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ และมีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ จึงควรนำรูปแบบดังกล่าวไปจัดตั้งและดำเนินการในโรงพยาบาลต่างๆ ต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-08-15

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ