อนาคตภาพที่พึงประสงค์ของหน่วยบริการปฐมภูมิ บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียในทศวรรษหน้า

ผู้แต่ง

  • เพลินพิศ พงศ์ปริญญากุล สถาบันพระบรมราชชนก และสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข
  • วิชิต เรืองแป้น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  • วารุณี หะยีมะสาและ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  • นิสาพร มูหะหมัด มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  • ชมพูนุช สุภาพวานิช วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา
  • นฤมล ทองมาก วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา

คำสำคัญ:

อนาคตภาพที่พึงประสงค์, หน่วยบริการปฐมภูมิ, พื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้เทคนิค EDFR (ethnographic Delphi futures research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทของระบบสุขภาพไทยและมาเลเซีย และอนาคตภาพที่พึงประสงค์ของหน่วยบริการปฐมภูมิบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2561-2570) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ และมีประสบการณ์ด้านสาธารณสุขชายแดนไทยและมาเลเซีย รวมถึงผู้แทนประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนชายแดน ใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) จำนวนรวม 24 คน จากฝั่งไทย 15 คนและฝั่งมาเลเซีย 9 คน เก็บข้อมูลรอบที่ 1 โดยแบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถามทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เก็บข้อมูลในกลุ่มเป้าหมายเดิมอีก 2 รอบ และในขั้นตอนสุดท้ายได้ตรวจสอบความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ ช่วงเวลาการเก็บข้อมูลอยู่ระหว่าง เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงมิถุนายน 2561 ใช้สถิติร้อยละ มัธยฐาน (median) ฐานนิยม (mode) และค่าพิสัยระหว่างควอร์ไทล์ (interquartile range) ผลการวิจัยพบว่า บริบทหน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศมาเลเซียระดับตำบลเรียกว่า health clinic มีแพทย์ครบทุกตำบลจำนวน 919 แห่ง ดูแลประชาชน 33 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ทั้งหมด 9,863 แห่งที่ดูแลประชาชน 67 ล้านคน ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนนโยบายการจัดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำหน่วยบริการปฐมภูมิร่วมกับทีมหมอครอบครัว โดยจัด รพ.สต. เป็นกลุ่มเรียกว่าคลินิกหมอครอบ-ครัวหรือ primary care cluster (PCC) กำหนดเป้าหมายให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครอบคลุม 6,500 แห่งภายในปี 2569 ซึ่งในปี 2562 ได้ดำเนินการแล้ว 806 แห่ง วัตถุประสงค์ที่ 2 พบว่ารูปแบบอนาคตภาพที่พึงประสงค์ของหน่วยบริการปฐมภูมิบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2561-2570) มีองค์ประกอบ 11 ด้าน 50 ประเด็น ซึ่งเรียกว่า “INSPIRATION Model หรือรูปแบบแรงบันดาลใจ” ประกอบด้วย (1) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information, I) (2) เครือข่ายความร่วมมือ (Network, N) (3) การให้บริการ (Service, S) (4) P มี 2 ด้านประกอบด้วยบุคลากรสุขภาพ (Personnel, health workforce, P1) และการมีส่วนร่วมของประชาชน (People participation, P2) (5) นวัตกรรม (Innovation, I) (6) การบริหารจัดการสัมพันธภาพ (Relationship manage-ment, R) (7) การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Access to drugs and medical equipment, A) (8) T มี 2 ด้านประกอบด้วย ระบบส่งต่อ (Transfer/referral system, T1) และการสร้างทีมสุขภาพ (Team building, T2) (9) ด้านการบูรณาการ (Integration, I) (10) การอภิบาลองค์กร (Organizational governance, O) และ (11) นโยบายสาธารณสุขแห่งชาติและนโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (National and international policy, N) ทั้งนี้ผลการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (connoisseurship) มีมติรับรองผลการวิจัย และเสนอให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่นำสู่การสืบค้นพบว่ามีการลงนามแล้วในอดีต เป็นระดับกระทรวงในปี 2540 และ 2550 โดยระดับรัฐและจังหวัดไม่มีข้อมูล ดังนั้นในการประชุมชายแดนรอบ 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2545-2561) จึงไม่ถูกนำมาติดตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายจึงเสนอให้ทบทวนบันทึกความร่วมมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและจัดทำแผนปฏิบัติการในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ครอบครัวและชุมชน ในพื้นที่ชายแดนร่วมกันให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อการจัดการตนเองด้านสุขภาพสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-08-30

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ