การนำนโยบายประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559–2560 ไปสู่การปฏิบัติ กรณีศึกษาในเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ, ประชารัฐ, ยาเสพติด, การมีส่วนร่วมบทคัดย่อ
นโยบายประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559–2560 มีเป้าหมายเอาชนะปัญหายาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ 81,905 แห่ง ด้วยกลไกและกระบวนการของประชารัฐ โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) เป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และระดับอำเภอ/เขต การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์นโยบายประชารัฐร่วมใจฯ พ.ศ. 2559–2560 ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายประชารัฐร่วมใจฯ ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน โดยการตรวจสอบรายการเอกสาร ในช่วงปี พ.ศ. 2559–2560 การสัมภาษณ์กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปปฏิบัติในพื้นที่ศึกษา จำนวน 6 คน ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง และการสำรวจแบบภาคตัดขวาง กับประชาชนทั่วไป ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 422 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า พื้นที่ศึกษามีการนำนโยบายประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการที่มาจากหลายส่วน ร้อยละ 65.0 เป็นบุคลากรจากภาครัฐ หน่วยงานที่รับนโยบายมาปฏิบัติในกรณีศึกษาคือส่วนงานพัฒนาชุมชนร่วมกับส่วนงานปกครอง มีแผนงาน โครงการและงบประมาณที่กำหนดมาจากสำนักงาน ป.ป.ส. กิจกรรมที่เน้นหนักคือการป้องกันที่มีกิจกรรมการเข้าไปกระตุ้นให้ประชาชนได้เกิดความตระหนักถึงโทษ พิษภัยของยาเสพติดรวมถึงแนวทางการป้องกันปัญหายาเสพติด ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พบว่าผู้ปฏิบัติรับรู้เนื้อหา สาระสำคัญของนโยบายประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด และได้ดำเนินกิจกรรม ตามนโยบายเป็นปกติที่ทำเป็นประจำ ไม่ได้มีแผนงาน โครงการและงบประมาณนอกเหนือจากงานปกติ ข้อมูลการสำรวจการมีส่วนร่วมและการรับรู้นโยบายพบว่า ประชาชนร้อยละ 59.2 ทราบถึงนโยบายฯและ2 ใน 3มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายในระดับปานกลาง ประชาชนมีความกลัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและร่วมมือในการดำเนินงานด้านยาเสพติด ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าภาครัฐยังคงเป็นผู้ดำเนินการหลัก ประชาชนและชุมชนที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินการตามนโยบายนี้มีส่วนร่วมไม่มากนัก
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
ลิขสิทธิ์ (c) 2019 Journal of Health Science - วารสารวิชาการสาธารณสุข
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.