การเปรียบเทียบผลของตำรับยาจับโปงแห้งเข่ากับเจลพริกในการเสริมการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โรงพยาบาลเขาพนม จังหวัดกระบี่

ผู้แต่ง

  • ภรณี อัครสุต กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเขาพนม จังหวัดกระบี่
  • สุรศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  • กรกช วิจิตรสงวน เจ็ดวรรณะ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

คำสำคัญ:

ตำรับยาจับโปงแห้งเข่า, เจลพริก, การเสริมการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม, แบบประเมิน WOMAC, แบบประเมิน VAS

บทคัดย่อ

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาเรื้อรังและเป็นสาเหตุของความทุพพลภาพในผู้สูงอายุ โดยกระบวนการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมตามแนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย (clinical practice guidelines; CPG) ประกอบด้วยการนวดรักษา การประคบสมุนไพร และการรักษาด้วยยาสมุนไพร ซึ่งคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาพนมมีการจ่ายตำรับยาจับโปงแห้งเข่าและเจลพริกเพื่อเสริมการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการวิจัยนี้เป็นการศึกษาภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของตำรับยาจับโปงแห้งเข่ากับเจลพริกในการเสริมการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 50-80 ปีของโรงพยาบาลเขาพนม ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2561 จำนวน 33 ฉบับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ได้รับการรักษาตาม CPG อย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ได้รับการรักษาตาม CPG ร่วมกับตำรับยาจับโปงแห้งเข่า และกลุ่มที่ 3 ได้รับการรักษาตาม CPG ร่วมกับเจลพริก จำนวนกลุ่มละ 11 ฉบับ วัดผลการรักษาจากแบบประเมินคะแนนปวด (visual analogue scale: VAS) และแบบประเมินอาการโรคข้อเข่าเสื่อมฉบับภาษาไทย (WOMAC in-dex scale) ประกอบด้วยระดับความปวดข้อ อาการข้อฝืด และความสามารถในการใช้งานข้อเข่า รวมทั้งศึกษาข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างของผลการรักษาภายในกลุ่ม ด้วยสถิติ paired t-test และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติ One-way ANOVA with post-hoc analysis (Tukey) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนปวด VAS และ คะแนน WOMAC index score (ความปวดข้อ อาการข้อฝืด ความสามารถในการใช้งานข้อของผู้ป่วย และคะแนนรวม) ก่อนและหลังรับการรักษาในสัปดาห์ที่ 1, 2 และ 3 ของทั้งสามกลุ่ม พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างทั้งสามกลุ่ม พบว่า เมื่อสิ้นสุดการศึกษากลุ่มที่เสริมการรักษาด้วยตำรับยาจับโปงแห้งเข่ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยคะแนนปวด VAS และ WOMAC index score (ความปวดข้อ ความสามารถในการใช้งานข้อ และคะแนนรวม) มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาตาม CPG อย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการเปรียบเทียบกลุ่มที่เสริมการรักษาด้วยเจลพริกกับกลุ่มที่เสริมการรักษาด้วยตำรับยาจับโปงแห้งเข่าและกลุ่มที่ได้รับการรักษาตาม CPG อย่างเดียว พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาในทั้งสามกลุ่ม การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การเสริมการรักษาด้วยตำรับยาจับโปงแห้งเข่าสามารถลดคะแนนปวด ระดับความปวดข้อ และเพิ่มความสามารถ ในการใช้งานข้อได้ดีกว่าการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทยอย่างเดียว จึงควรมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของตำรับยาจับโปงแห้งเข่าและเจลพริกในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในทางคลินิกต่อไป

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-04-30

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ