แนวทางการจัดระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ พ.ศ. 2560

ผู้แต่ง

  • พงศธร พอกเพิ่มดี สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • ธิฏิรัตน์ เมฆบัณฑิตกุล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

จัดระดับ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, รพ.สต., ประสิทธิภาพ, คุณภาพ, ความเป็นธรรม

บทคัดย่อ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิด่านแรกที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับตำบล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระบบสาธารณสุขของไทย ปัจจุบันมี รพ.สต. 9,871 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมา รพ.สต. ได้จัดตั้งขึ้นตามเขตการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำให้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบการให้บริการสาธารณสุข ตลอดจนจำนวนประชากร หมู่บ้าน และโรงเรียน ที่รับผิดชอบ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งระดับ รพ.สต. เป็น 3 ระดับตามจำนวนประชากร ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้ทรัพยากรของ รพ.สต. วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อหาแนวทางการจัดระดับ รพ.สต. ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของ รพ.สต. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยใช้รูปแบบการศึกษาภาคตัดขวางเชิงพรรณนา (descriptive cross sectional study) ด้วยการสุ่มตัวอย่าง รพ.สต. ทั่วประเทศอย่างง่าย เก็บข้อมูลตัวชี้วัดที่คาดว่าจะส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร ทางแบบสอบถามอิเลคทรอนิคส์ จำนวน 833 แห่ง ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และใช้การวิเคราะห์กลุ่ม (cluster analysis) แบบ two step cluster analysis เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า มีปัจจัยอื่นนอกจากจำนวนประชากร เช่น จำนวนหมู่บ้าน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก จำนวนเด็กเล็ก นักเรียน และผู้สูงอายุ มีผลต่อระดับของ รพ.สต. อย่างมีนัย-สำคัญ ดังนั้น การใช้ข้อมูลอื่นๆ ร่วมด้วยในการจัดระดับ รพ.สต. น่าจะเหมาะสมกว่าการใช้จำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อเสนอในการจัดระดับ รพ.สต. ทั่วประเทศ เป็น 4 ระดับ ได้แก่ (1) ขนาดเล็ก (2) ขนาดกลาง (3) ขนาดใหญ่ และ (4) ขนาดพิเศษ ด้วยเหตุผลทางสถิติและความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดจนผู้บริหารระดับสูง และเมื่อวิเคราะห์อัตราส่วนของบุคลากรใน รพ.สต. ต่อประชากรที่รับผิดชอบ พบว่า บุคลากรใน รพ.สต. ขนาดพิเศษ และขนาดใหญ่ รับผิดชอบประชากรมากกว่า รพ.สต. ขนาดเล็ก ในสัดส่วน 2 - 3 เท่า จำเป็นที่จะต้องจัดสรรบุคลากรตลอดจนงบประมาณสำหรับดำเนินงานให้กับ รพ.สต. ขนาดใหญ่และขนาดพิเศษ ให้เพียงพอต่อไป ข้อเสนอสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป คือ (1) การนำปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร และระยะทาง มาพิจารณาเพิ่มเติมอาจจะทำให้การจัดระดับ รพ.สต. นั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และ (2) หลังจากได้ผลการศึกษาในระดับประเทศ ควรนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งการจัดระดับ รพ.สต. ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร และจะส่งผลถึงคุณภาพบริการที่ให้กับประชาชนในที่สุด

Downloads

Download data is not yet available.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2020-04-30

วิธีการอ้างอิง

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดจากผู้แต่งเรื่องนี้