ประสิทธิผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของจังหวัดตราด

ผู้แต่ง

  • ไพริน ศิริพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           การวิจัยเรื่องประสิทธิผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจังหวัดตราด เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาประสิทธิผลหรือผลสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ภายหลังที่มีการดำเนินงานตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ในพื้นที่ที่มีการดำเนินงานตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ของจังหวัดตราด ขั้นตอนการศึกษาเชิงปริมาณศึกษาประกอบด้วยการค้นคว้าเอกสาร เพื่อรวบรวม ค้นคว้าข้อมูล เอกสารต่างๆ ศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 420 คน          ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินงานตาม แนวทางการดูแลผู้สูงอายะระยะยาว ในกลุ่มผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล      เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของหน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จำนวน 190 คน ใช้เครื่องมือคือ แบบสอบถาม ที่ผ่านการวิเคราะห์ความเที่ยงด้วยค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาเท่ากับ  0.83

            ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศหญิงมากที่สุดร้อยละ 59.52 มีอายุระหว่าง 60-64 ปี     ร้อยละ 47.63 รองลงมาได้แก่อายุ 65-69 ปี ร้อยละ 28.57 ด้านสถานภาพส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส ร้อยละ 71.43     มีรายได้เฉลี่ยของครอบครัว(รวม)ต่อเดือน อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 บาท มากที่สุดร้อยละ 52.40            จบการศึกษาในระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษา ร้อยละ 52.40 และส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตำบล/หมู่บ้านหรือพื้นที่       ที่อาศัยอยู่เข้าร่วมดำเนินงานตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ร้อยละ 52.40 ระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในจังหวัดตราด ภายหลังที่มีการดำเนินการตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวดีกว่าก่อนที่มีการดำเนินการตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ประสิทธิผลหรือผลสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายหลังที่มีการดำเนินงานตามแนวทางการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของจังหวัดตราด ได้ข้อสรุปว่าการขับเคลื่อนนโยบายการดูแลผู้สูงอายุและการส่งเสริม/สนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อจัดให้มีกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม  การรับประทานอาหาร การดูแลด้านทันตอนามัย จะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถการดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม จะลดภาวะเสี่ยง ลดโรค ช่วยลดปัญหาสุขภาพ ของผู้สูงอายุและส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

คำสำคัญ  คุณภาพชีวิต , การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว , ประสิทธิผล

 

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2023-12-29

วิธีการอ้างอิง