การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการซ่อมครุภัณฑ์การแพทย์ โรงพยาบาลตรัง

ผู้แต่ง

  • สุธี ดำคง โรงพยาบาลตรัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง

คำสำคัญ:

ประสิทธิภาพการซ่อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์, การซ่อม, การบริหารพัสดุและบำรุงรักษา

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการซ่อมครุภัณฑ์การแพทย์โรงพยาบาลตรัง เป็นการวิจัย กึ่งทดลองศึกษาข้อมูลย้อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการซ่อมครุภัณฑ์การแพทย์ตามระบบการซ่อมบำรุงรักษาครุภัณฑ์การแพทย์ปี 2560 และเปรียบเทียบประสิทธิภาพการซ่อมด้านความทันเวลาและความคุ้มค่าก่อนและหลัง นำระบบมาปฏิบัติ ประชากรที่ศึกษาเป็นครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ประเภท 6515 ที่ชำรุดที่แผนกงานช่างอิเล็กทรอนิกส์ได้ซ่อมจนสามารถใช้งานได้เต็มความสามารถและตรงกับวัตถุประสงค์ที่จัดหามากที่สุด เก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิจากใบขออนุมัติซ่อมครุภัณฑ์การแพทย์ กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มเป็นอิสระจากกัน เลือกแบบเฉพาะเจาะจง โดยการจับคู่ตามคุณสมบัติที่กำหนด กลุ่มละ 117 ตัวอย่าง เป็นเครื่องวัดความดันโลหิตเครื่องให้ออกซิเจน เครื่องตรวจติดตามการทำงานและรักษาหัวใจ และเครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS FOR WINDOWS สถิติที่ใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ t-test

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างของกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลอง มีคุณลักษณะเป็นครุภัณฑ์การแพทย์รายการเดียวกัน มีสาเหตุการชำรุด มีอายุการใช้งานและมีราคาทุนในการจัดหาไม่แตกต่างกัน มีสัดส่วนวิธีการซ่อมที่แตกต่างกันโดยซ่อมวิธีใช้วัสดุ/อะไหล่ ร้อยละ 18.80, 53.00 ตามลำดับ ผลการซ่อมตามระบบทดลอง มีความทันเวลาการซ่อมเฉลี่ย 6.01 วัน มีผลตอบแทนที่ได้รับเฉลี่ย 50,626.56 บาท เปรียบเทียบประสิทธิภาพการซ่อมด้านความทันเวลา กลุ่มทดลองมีประสิทธิภาพด้านความทันเวลาสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการซ่อมด้านความคุ้มค่า ทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพการซ่อมด้านความคุ้มค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การนำระบบการซ่อมบำรุงรักษาครุภัณฑ์การแพทย์ปี 2560 มาปฏิบัติสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมด้านความทันเวลาได้ แต่ยังไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมด้านความคุ้มค่าได้ เนื่องจากการซ่อมวิธีใช้วัสดุ/อะไหล่ มีต้นทุนรวมสูงขึ้นจากต้นทุนค่าวัสดุ/อะไหล่และต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ควรนำผลการศึกษาไปใช้ในการบริหารพัสดุและซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพการซ่อมด้านความคุ้มค่าต่อไป และควรทำการวิจัยโดยใช้ต้นทุนค่าแรงของผู้ปฏิบัติงานรายบุคคลแทนการใช้ค่าเฉลี่ยรายจ่ายค่าแรง เพื่อให้มีผลประเมินประสิทธิภาพด้านความคุ้มค่ามีความถูกต้องยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 2546. ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 120 ,ตอนที่ 100 ก. (ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2546).

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 สำนักนายกรัฐมนตรี. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี; 2535.

กองวิศวกรรมการแพทย์. คู่มือการจัดระบบวิศวกรรมการแพทย์ในโรงพยาบาล. นนทบุรี: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ; 2558.

สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข. การจัดทำรายงานการสำรวจครุภัณฑ์และการกำหนดเลขหมายพัสดุ เล่ม 3.นนทบุรี: สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข; 2536.

สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย. การออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย;2546.

กชพร ลาภสุวรรณสกุล, ดามพรรณ คูณค้ำ. การวิเคราะห์ต้นทุนบริการทางบัญชี และต้นทุนบริการทางเศรษฐศาสตร์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ; 2555.

กุรุพินท์ เวชทรัพย์. การสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับการวางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาล : กรณีศึกษาโรงพยาบาลตัวอย่าง [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ: สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ; 2548.

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2019-05-10

วิธีการอ้างอิง