ผลของโปรแกรมส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยนรีเวชกรรมต่อการฟื้นสภาพของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทางหน้าท้อง

ผู้แต่ง

  • จำเนียร คงประพันธ์ หอผู้นรีเวช โรงพยาบาลแพร่
  • พัชรพรรณ เวียงเก่า หอผู้นรีเวช โรงพยาบาลแพร่
  • ธันยธรณ์ เหมืองอุ่น หอผู้นรีเวช โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            การผ่าตัดหน้าท้องทางนรีเวชกรรมเป็นหัตถการที่พบบ่อยที่สุด ผลของการผ่าตัดทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนมากพบว่าปวดแผลผ่าตัด ท้องอืด รวมถึงการฟื้นสภาพหลังผ่าตัดช้า มีระยะเวลานอนในโรงพยาบาลนาน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อครอบครัว เศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วยระยะยาว ดังนั้นการส่งเสริมการดูแลตนเอง โดยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่เพียงพอ มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สร้างเสริมสุขภาพหลังผ่าตัดได้เองอย่างเป็นระบบ สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้

วัตถุประสงค์:    เพื่อเปรียบเทียบการฟื้นสภาพในผู้ป่วยนรีเวชหลังผ่าตัดทางหน้าท้องระหว่างกลุ่มที่เข้าร่วม

และไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผนหลังผ่าตัด หอผู้ป่วยนรีเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่

วิธีการศึกษา:    เป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) แบ่งเป็น 2 กลุ่มวัดก่อน-หลังการทดลองในผู้ป่วยนรีเวชกรรมหลังผ่าตัดมดลูก รังไข่ หอผู้ป่วยนรีเวช โรงพยาบาลแพร่ ระหว่างเดือน สิงหาคม 2559 ถึงเดือน พฤศจิกายน 2559 กลุ่มควบคุมจำนวน 32 ราย ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองจำนวน 32 ราย ได้รับการดูแลโดยเข้าโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินการฟื้นสภาพของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ประกอบด้วย 2.1) การประเมินสภาพหลังผ่าตัด 2.2) ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดวันที่ 1 – 3 2.3) อาการอืดท้อง 2.4) ความสามารถในการลุกเดินและปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน 2.5) จำนวนชั่วโมงที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ และ 2.6) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เปรียบเทียบกลุ่มที่ศึกษาด้วย t-test และ exact probability test

ผลการศึกษา:    ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยใช้โปรแกรมส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผนหลังผ่าตัดมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดวันที่ 1 ลดลง (p = 0.000) หลังผ่าตัดดื่มน้ำได้มากขึ้น (p = 0.019)  สามารถลุกเดินลงจากเตียงได้เร็ว (p = 0.045) มีวันนอนลดลง (p = 0.109)  ค่ารักษาลดลง (p = 0.137)  ผู้ป่วยมีความรู้และทักษะในการดูแลตนเองมากขึ้น (p = 0.000)   

สรุป:              กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลโดยใช้โปรแกรมส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยนรีเวชกรรม ผู้ป่วยฟื้นสภาพหลังผ่าตัดได้ดีกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามปกติ

คำสำคัญ:        โปรแกรมส่งเสริมการดูแลตนเอง,  ผู้ป่วยหลังผ่าตัดทางหน้าท้อง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-19

วิธีการอ้างอิง