ผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกโรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: ต้อกระจกเป็นปัญหาทางตาที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตาบอดมากที่สุด การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกมาใช้ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดและการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก รวมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่บ้าน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก ต่อการกลับมารักษาซ้ำและการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจก ความรู้และความสามารถของผู้ป่วยและญาติในการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก และศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ และพยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วยจักษุ โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: Interrupted time design ศึกษาจากประชากร 2 กลุ่ม ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยจักษุ โสต ศอ นาสิก และผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยจักษุ โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลแพร่ แบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกที่ไม่ได้ใช้ แนวปฏิบัติการพยาบาล ในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ไดรับการดูแลตามปกติ และผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกที่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล ที่พัฒนาขึ้นจากหลักฐานความรู้เชิงประจักษ์ ในระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด 120 ราย ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล 60 ราย ไม่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล 60 ราย ผู้ป่วยกลุ่มใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล มีคะแนนความรู้มากกว่า (12.5±0.7, 10.5±1.2, p=<0.001) ทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่มีความสามารถในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องทั้งในด้านการหยอดตา การป้ายตาและการเช็ดตาได้ไม่แตกต่างกัน กลุ่มใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลทุกรายไม่กลับมารักษาซ้ำและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่วนกลุ่มไม่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล มีการกลับมารักษาซ้ำ จำนวน 2 ราย ร้อยละ 3.3 เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ มีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา 1 ราย ร้อยละ 1.7 มีเลนส์ตาเคลื่อน 1 ราย ร้อยละ 1.7 เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ไม่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดมากกว่ากลุ่มไม่ใช้แนวปฏิบัติการพยาบาล ทั้งในด้านความรู้และทักษะการปฏิบัติตัว (p < 0.001) ความคิดเห็นของพยาบาลผู้ปฏิบัติต่อประสิทธิผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลระดับมากในเรื่องความง่ายและสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติ ร้อยละ 88.9 พยาบาลทุกรายมีความพึงพอใจในในระดับมาก เรื่องความชัดเจน ความสะดวกต่อการนำไปปฏิบัติ ความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ มีประโยชน์ต่อหน่วยงานและมีความพึงพอใจในแนวปฏิบัติการพยาบาล
สรุป: การใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการกลับมารักษาซ้ำ จึงควรพิจารณานำแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกมาใช้ในการให้บริการผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกต่อไป
คำสำคัญ: โรคต้อกระจก, แนวปฏิบัติพยาบาล, ผ่าตัดต้อกระจก