ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำของผู้บริจาคโลหิตในจังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • วรางคณา โสฬสลิขิต กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก โรงพยาบาลแพร่
  • ณัฐวุฒิ ขันทิตย์

บทคัดย่อ

บทนำ:            การจัดหาโลหิตไม่เพียงพอใช้กับผู้ป่วยมีสาเหตุจากปัญหาและปัจจัยอื่นทางสาธารณสุขที่ แตกต่างกัน จังหวัดแพร่ มีอัตราความไม่เพียงพอใช้ของโลหิตเฉลี่ยร้อยละ 35.0 ปี พ.ศ. 2558-2560 สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ จังหวัดแพร่ มีผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกเฉลี่ยร้อยละ 19.7 และมีอัตราการไม่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำภายในระยะเวลา 6 เดือนสูงถึงร้อยละ 83.3  ดังนั้นการศึกษาปัจจัยที่อาจส่งผลถึงความตั้งใจในการกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำ จะใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงบริการพัฒนาระบบงานเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริจาคโลหิตกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำ จะทำให้มีโลหิตเพียงพอใช้กับผู้ป่วยมากขึ้น

วัตถุประสงค์:    ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำของผู้บริจาคโลหิต

วิธีการศึกษา:    Crossectional Analytical Study ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรม ทัศนคติ ความรู้ความ

เข้าใจ การรับรู้นโยบายการส่งเสริม แรงสนับสนุนทางสังคมต่อการบริจาคโลหิตและความ พึงพอใจในผู้บริจาคโลหิต 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำภายในระยะเวลา 6 เดือน 180 ราย และกลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำ 405 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติอนุมาน

ผลการศึกษา:    กลุ่มที่กลับมาบริจาคซ้ำส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 29.83 ปี กลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 26.36 ปี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่กลับมาบริจาคซ้ำ     มีพฤติกรรมการบริจาคโลหิตที่มากกว่า 2 ครั้ง พบร้อยละ 68.34  ส่วนกลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำบริจาคมากกว่า 2 ครั้ง ร้อยละ 50.12 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  กลุ่มที่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตในระดับดีร้อยละ 43.33 กลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคส่วนใหญ่มีความรู้ในระดับปานกลางร้อยละ 45.19  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้านทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคโลหิตพบว่ากลุ่มที่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำมีทัศนคติระดับดีร้อยละ 80.56 กลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคซ้ำมีทัศนคติระดับดีร้อยละ 63.70 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับการรับรู้นโยบายส่งเสริมการบริจาคโลหิตในกลุ่มที่กลับมาบริจาคโลหิตซ้ำมีการรับรู้ระดับดีมากที่สุดร้อยละ 57.22 และกลุ่มที่ไม่กลับมาบริจาคมีการระดับดีมากที่สุดเช่นกัน คือ ร้อยละ 45.43 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาความตั้งใจที่จะกลับมาบริจาคโลหิตในระยะเวลา 6 เดือน กลุ่มที่กลับมาบริจาคซ้ำส่วนใหญ่มีความตั้งใจระดับดีร้อยละ 89.44  กลุ่มที่ไม่กลับมามีความตั้งใจระดับดีร้อยละ 56.05 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งสองกลุ่มมีความพึงพอใจต่อบริการในระดับดีมากที่สุดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาความสัมพันธ์ของแต่ละปัจจัย พฤติกรรมการบริจาคโลหิตกับความตั้งใจที่จะกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำพบ 5 ปัจจัย ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ระดับการศึกษาในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า (Odds ratio 8.45) ระดับการศึกษามัธยมศึกษามี Odds ratio 2.27 การมีความรู้ความเข้าใจในการบริจาคโลหิตระดับดีมี Odds ratio 7.29 พฤติกรรมการบริจาคโลหิต 2 ครั้ง มี Odds ratio 6.51และพฤติกรรมบริจาคโลหิตที่มากกว่า 2 ครั้ง มี Odds ratio 5.32   ถิ่นที่อยู่ของผู้บริจาคโลหิตเขตอำเภอเมืองแพร่ มี Odds ratio 2.55 โดยผู้บริจาคโลหิตที่อายุมากกว่า 59 ปี มี Odds ratio 2.38  

สรุป:              ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจที่จะกลับมาบริจาคโลหิตซ้ำได้แก่การมีความรู้ความเข้าใจ  ทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคโลหิต การรับรู้นโยบายส่งเสริมการบริจาคโลหิต การจัดบริการที่สะดวกต่อการเข้าถึงและการกระตุ้นให้ผู้บริจาคมีพฤติกรรมการบริจาคโลหิตที่มากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป

คำสำคัญ:        พฤติกรรมการบริจาคโลหิต, ความรู้ความเข้าใจ, นโยบายส่งเสริมและแรงสนับสนุนทางสังคม

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-20

วิธีการอ้างอิง