ผลการศึกษาการคัดแยกประเภทผู้ป่วยหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลวังชิ้น

ผู้แต่ง

  • ปุณยนุช ปิจนำ โรงพยาบาลวังชิ้น จังหวัดแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            ผู้ป่วยอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงจะส่งผลให้รอดชีวิตและพิการน้อยที่สุด การที่ผู้ป่วยมารับบริการห้องฉุกเฉินปริมาณมากในแต่ละวันทำให้ต้องมีระบบคัดแยกระดับความรุนแรงของผู้ป่วยที่ถูกต้องและรวดเร็ว เน้นความลื่นไหลในการทำงาน ลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาผลการคัดแยกประเภทผู้ป่วยหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลวังชิ้น

วัตถุประสงค์:    เพื่อศึกษาผลการใช้แนวปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลวังชิ้น

วิธีการศึกษา:    เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi experimental) โดยการวิจัยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 3 เดือน ตั้งแต่ เมษายน–ธันวาคม 2560 โดย ช่วงที่ 1 เป็นการศึกษาก่อนใช้แนวปฏิบัติการคัดแยก ช่วงที่ 2 เป็นช่วงการศึกษาทำความเข้าใจในการใช้แนวปฏิบัติ และช่วงที่ 3 เป็นการศึกษาหลังการใช้แนวปฏิบัติ โดยใช้เวชระเบียน จำนวน 2,183 ฉบับ ความต่างจำนวนเวชระเบียนก่อนและหลังใช้แนวปฏิบัติตามจำนวนผู้มารับบริการ การเลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างใช้ตารางสำเร็จรูปของเครจซี่ และเมอร์แกน (Krejcie & Morgan) วิธีการสุ่มใช้การสุ่มแบบเป็นระบบ (Systematic random sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มเป็นช่วง ๆ  เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือ เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยมาจากมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่มีการจัดระดับความรุนแรงผู้ป่วยเป็น 5 ระดับ โดยอ้างอิงเกณฑ์ของ Emergency Severity Index version 4 (ESI)  แจกแจงสถิติเป็นร้อยละ

ผลการศึกษา:    การคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนการใช้แนวปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยถูกต้องร้อยละ 75.41 คัดแยกไม่ถูกต้องร้อยละ 24.73 โดยคัดแยกสูงกว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วยร้อยละ 7.82 ต่ำกว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วยร้อยละ 16.91 หลังการใช้แนวปฏิบัติ คัดแยกผู้ป่วยถูกต้องร้อยละ 91.10 คัดแยกไม่ถูกต้องร้อยละ 8.90 โดยคัดแยกสูงกว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ร้อยละ 3.63 ต่ำกว่าความรุนแรงของผู้ป่วยร้อยละ 5.27

สรุป               หลังมีนำแนวปฏิบัติการคัดแยกประเภทผู้ป่วยแบบ 5 ระดับ โดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย โดยมีการให้ความรู้ ศึกษาทำความเข้าใจร่วมกัน มีระบบพี่เลี้ยงช่วย ทำให้การคัดแยกมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

คำสำคัญ         ผู้ป่วยฉุกเฉิน, การคัดแยกถูกต้อง, การคัดแยกสูงกว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วย, การคัดแยกต่ำกว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วย

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง