กล่องยาฉุกเฉินพูดได้

ผู้แต่ง

  • ชมรมพร ศรีนวล โรงพยาบาลแพร่
  • ทิพวรรณ เทียมแสน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่
  • กนกพร นามปรีดา โรงพยาบาลแพร่
  • เสาวลักษณ์ วิลัย โรงพยาบาลแพร่

บทคัดย่อ

บทนำ:            ความปลอดภัยของระบบยาเป็นจุดเน้นที่สำคัญของทุกโรงพยาบาล ตามนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use) และเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยเฉพาะยาที่มีความเสี่ยงสูง (High alert drug) ที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายหรือเสียชีวิต กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลแพร่ จัดทำกล่องยาฉุกเฉิน (Emergency box) เพื่อใช้ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) มียาในกล่อง 9 รายการ ได้แก่ Adenosine injection, Adrenaline injection, Amiodarone injection, Atropine injection, Calcium Gluconate 10% injection, Diazepam injection, Glucose 50% injection, Magnesium sulfate 50% injection และ Sodium Bicarbonate 7.5% injection จากการติดตามประเมินผลการใช้งานกล่องยาฉุกเฉินจากบุคลากร ในช่วง ตุลาคม 2562–มีนาคม 2563 พบว่า ร้อยละ 45.5 แสดงความเห็นว่ามีปัญหาและอุปสรรคด้านความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการใช้ยา และร้อยละ 89.1 เสนอแนะให้มีการพัฒนาฉลากยาหรือวิธีการบริหารยาออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน

วัตถุประสงค์:    เพื่อพัฒนานวัตกรรมกล่องยาฉุกเฉินพูดได้ (Talking Emergency box) ใช้เป็นคู่มือสนับสนุน ปฏิบัติงาน เตรียมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อนที่จะมีการบริหารยา และ ป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยาของยา 9 รายการ ในกล่องยาฉุกเฉิน

วิธีการศึกษา:    พัฒนาฉลากยาจากเอกสารเป็น “ฉลากคำแนะนำการใช้ยาแบบมีเสียงพูด” โดยใช้โปรแกรม Audio QR code อัดเสียงวิธีการบริหารยาและแปลงเสียงพูดเป็น QR code ติดที่หน้ากล่องยาฉุกเฉิน ใช้ Smart Phone อ่าน QR code เพื่อรับฟังเสียงคำแนะนำการบริหารยา

ผลการศึกษา:    เมื่อพัฒนานวัตกรรมและส่งมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ และติดตามผลการใช้งาน พบว่า บุคลากร    มีความพึงพอใจต่อความสะดวกของการเข้าใช้งานร้อยละ 100 เห็นว่ามีประโยชน์ในการทำงาน ร้อยละ 100 และมีความพึงพอใจโดยรวมในการใช้งานนวัตกรรมกล่องยาฉุกเฉินพูดได้ร้อยละ93.8

สรุป:              นวัตกรรมกล่องยาฉุกเฉินพูดได้ (Talking Emergency box) ช่วยขับเคลื่อนภารกิจบริการ เภสัชกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ สนับสนุนการพัฒนาระบบยาที่ปลอดภัย นโยบายการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเกิดความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข

คำสำคัญ:         นวัตกรรม, กล่องยาฉุกเฉิน, ยาที่มีความเสี่ยงสูง

ดาวน์โหลด

เผยแพร่แล้ว

2021-08-30

วิธีการอ้างอิง